หมอเลี้ยบ ชี้สิ่งที่น่ากลัวกว่าโควิด คือการไม่รู้เรื่องโควิดของผู้รับผิดชอบ ไม่วางแผน

หมอเลี้ยบ – เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.สาธารณสุข โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อแนวรบโควิด-19 ว่าด้วยคณิตศาสตร์โควิด และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โดยช่วงหนึ่ง หมอเลี้ยบ ได้แสดงความเห็นว่า จุดเปลี่ยนของสถานการณ์โควิดในไทย เริ่มต้นจากเวทีมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ซึ่งเกิด Super Spreader คล้ายกับผู้ป่วยรายที่ 31 ของเกาหลีใต้ ดังนั้นน่าศึกษาวิธีการที่เกาหลีใต้ใช้ในการควบคุมโรคโควิด ว่าเขาใช้วิธีอะไรบ้าง

เกาหลีใต้เน้นอยู่ 4 เรื่องคือ ตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยถึงกว่า 300,000 คน กักตัวกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ 14 วัน ปูพรมค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และ Social distancing ไม่มีการปิดเมือง (ยกเว้นเมืองแทกู ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคโควิด) ไม่ห้ามการสัญจรระหว่างเมือง ไม่มีเคอร์ฟิว แต่เน้นเรื่องการใส่หน้ากากและการล้างมืออย่างจริงจัง

มาตรการที่สำคัญยิ่งของเกาหลีใต้อีกประการหนึ่งคือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ทำให้สื่อมวลชน และประชาชนไม่กล้าแสดงความเห็น ประชาชนไม่กล้าแจ้งเหตุที่กังวล และต้องการให้รัฐบาลแก้ไข ไม่กล้าร้องเรียนปัญหาที่พบเห็นในการควบคุมโรค เหมือนก่อนหน้านี้

การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า ปัญหาประสิทธิภาพในการควบคุมโรคจะได้รับการแก้ไข โควิดไม่น่ากลัว ถ้าไม่ประมาทและป้องกันควบคุมอย่างถูกวิธี เหมือนที่ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ดำเนินการอยู่

แต่ที่น่ากลัวคือ ความไม่เข้าใจองค์ความรู้เรื่องโควิดของผู้รับผิดชอบ และการไม่ติดตามข้อมูลโควิดที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน การรับมือโควิดอย่างสะเปะสะปะ ขาดการวางแผน และไร้ประสิทธิภาพ และการไม่รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน

 

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน