บุคลากรแพทย์ติด โควิด รวม 11 ราย

วันที่ 27 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรค โควิด จากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มี บุคลากรแพทย์ ติดเชื้อจำนวน 11 คน ได้แก่ผู้ป่วยรายที่ 34, 765-768 , 866-867 , 953 และ 979-981 โดยมีทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับการติดเชื้อมีหลายสาเหตุ ทั้งการติดจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้บอกประวัติความเสี่ยง การติดจากผู้สัมผัสใกล้ชิด

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า บุคลากรสาธารณสุขก็เหมือนคนทั่วไป ที่ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกด้วย โดยการติดเชื้อของกลุ่มบุคลากรมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ติดเชื้อระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากคนไข้ไม่ได้บอกประวัติความเสี่ยง 2.กลุ่มที่ติดจากที่อื่น

ทั้งนี้ เราห้ามไม่ได้ การที่บุคลากรสาธารณสุขจะไปมีสังคม ไปสังสรรค์ที่อื่น หรือมีภารกิจจำเป็นในพื้นที่เสี่ยง แต่การไม่ได้กักตัวเอง 14 วัน ตรงนี้ทำให้มีผลกระทบกับผู้ร่วมงาน เพราะหลังจากที่ตัวเองมีผลเป็นบวกแล้ว ผู้ร่วมงานกลายเป็นว่าต้องถูกกักตัว จึงเสียทรัพยากรคนกลุ่มนี้ไป 14 วัน

เมื่อถามถึงกรณีผอ.โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ที่ติดโรคโควิด-19 ด้วย นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ส่วนนี้อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลสอบสวนโรคว่าติดจากไหน อย่างไร อยู่ระหว่างรวบรวมการเชื่อมโยงผู้สัมผัสใกล้ชิดว่าเป็นใครบ้าง คาดว่าเร็วๆ นี้จะแถลงรายละเอียดได้

เมื่อถามถึงกรณีผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้น 7 ราย เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ยังไม่รับรายงานข้อมูลตรงนี้

ถามต่อว่าคผู้เสียชีวิตที่ จ.นราธิวาส เป็นผู้ที่ไปร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซียหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตเป็นชายไทยอายุ 50 ปี ไปงานร่วมพิธีหรือไม่ ตนไม่มีข้อมูล แต่ผู้ป่วยรายนี้มารับการรักษาที่ รพ.สุไหงโก-ลก ส่วนการจัดการศพในส่วนของผู้ป่วยที่เป็นชาวมุสลิมก็มีแนวทางของจุฬาราชมนตรีอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าผู้เสียชีวิต จ.นราธิวาส ไม่ได้อยู่ในผู้ป่วยอาการหนักก่อนหน้านี้ ถือว่ามาแล้วรุนแรงจนเสียชีวิต หรือมีโรคประจำตัวหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้

กักตัว 22 คนใกล้ชิด ผอ.โรงพยาบาลเสี่ยง โควิด

เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มสนามมวยครบ 14 วันของโรคแล้ว แต่ยังเจอผู้ป่วยในกลุ่มสนามมวยเพิ่มอีก นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ถ้านับ 14 วันก็ถือว่าครบไปแล้วเมื่อวันที่ 20-21 มี.ค. แต่สนามมวยยังเปิดต่อไปจนถึงวันที่ 9 มี.ค.แล้วค่อยปิด ก็อาจจะยังมีคนใกล้ชิดอยู่อีก

ทั้งนี้ หากติดตามกลุ่มสนามมวย พบว่าเกิดตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. และเริ่มพบเวทีราชดำเนินวันที่ 5 มี.ค. และลุมพินีวันที่ 6 มี.ค. เพราะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน คือ คนดูมวย จากข้อมูลพบว่ามีประมาณ 5 พันกว่าคนในสนาม ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ต่อมาก็ทยอยกันป่วย แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไปสนามมวย แต่ไม่แสดงตัว

ทั้งที่ กระทรวงสธารณสุขอนุโลมว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ มีรายงานผู้ป่วยทุกวัน จึงเชิญชวนให้ออกมาตรวจร่างกาย จะไม่ได้เป็นผู้ที่มีเชื้อไปแพร่ในชุมชน อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้เมื่อกลับบ้าน ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ก็ไปคลุกคลีคนใกล้ชิดในครอบครัว หรือจากภารกิจหน้าที่การงาน โดยไม่ได้ระมัดระวังการแพร่เชื้อ

เมื่อเขาเป็นผู้ป่วย คนรอบๆ ก็คือผู้สัมผัสใกล้ชิด และเมื่อคนใกล้ชิดป่วยก็จะมีผู้ใกล้ชิดต่ออีก หากตีความคือกลุ่มสนามมวยถือเป็นวงที่ 1 คนสัมผัสใกล้ชิดเป็นวงที่ 2 หากตะครุบวงที่ 1 ได้ครบ การติดตามวงที่ 2 ก็ง่าย แต่หากมีหลุดรอกก็อาจมีขยายไปวงที่ 3 และ 4 ซึ่งคาดว่าผู้ป่วยในช่วงนี้น่าจะเป็นวงที่ 3

นพ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จากการศึกษาของประเทศออสเตรเลียพบว่า ถ้าประชาชนยอมรับมาตรการของรัฐ และร่วมมือปฏิบัติตามในระดับที่ต่างกันก็จะให้ผลต่างกัน สำหรับประเทศไทยตอนนี้ คือการขอความร่วมมืออยู่บ้าน และมีระยะห่างทางสังคม หากร่วมมือ 90% จะสามารถหน่วงสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ให้เกิดน้อย ไปเฟสสามได้สบาย มีสถานที่เตียงรองรับเพียงพอ แต่หากลดมา 80% หรือ 70% จะมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งกรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างสำรวจถึงความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชน

นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวถึงกรณี ผอ.โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ติดโรคโควิด-19 ว่า จากการที่ผอ.โรงพยาบาลดังกล่าวติดโรค ทำให้มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสใกล้ชิดกับ ผอ.คนดังกล่าวประมาณ 21-22 ราย

ขณะนี้ทุกรายได้รับการตรวจเชื้อเบื้องต้น ยังไม่พบว่ามีรายใดติดเชื้อ แต่ทุกรายก็ต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน ส่วนการสอบสวนหาสาเหตุของการติดโรคนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าติดมาจากแหล่งใด โดยผู้ลงมาสอบสวนโรคคือกรมควบคุมโรค ทั้งนี้ ภายหลังจากทราบเรื่องว่ามีผอ.โรงพยาบาลติดโรค ทางโรงพยาบาลก็ได้ทำความสะอาดโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน