นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานร่วมหารือกับภาคเอกชนถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมว่าล่าสุดได้หารือกับกระทรวงการคลังเพื่อทำแผนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อหากไทยปลดล็อคปิดประเทศ(ล็อคดาวน์) หลังสถานการณ์โควิด-19 จบลง
โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ช่วยกัน ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล วงเงิน 400,000 ล้านบาท ให้ไทยก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้
“เศรษฐกิจฐานรากเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะการส่งออกและท่องเที่ยวคงไม่ฟื้นแน่นอน ความหวังที่จะให้เศรษฐกิจกลับมาโตเหมือนในอดีตคงยาก ยิ่งถ้าสหรัฐและยุโรปก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ แรงงานจะกลับมาสู่โรงงานทั้งหมดก็ยังคงยาก ดังนั้นทำอย่างไรที่จะให้กลับเข้าไปสู่การผลิตภาคการเกษตรที่ยกระดับคุณภาพไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร
การพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์(โอทอป) คือทางรอดที่จะหล่อเลี้ยงสังคมไทยให้ข้ามผ่านจุดนี้ไปได้นี่คือหัวใจ เพราะการบริโภคในประเทศและการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทสำคัญมาก” นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ การเงินคลังจะใช้กลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) เข้ามาดูแลโดยเฉพาะธ.ก.ส.จะชี้เป้าสินค้าดึงเข้าสู่ระบบดีไซน์
และสิ่งสำคัญคือภาคเอกชนจะนำสินค้าที่จะพัฒนาไปสู่ตลาดในประเทศได้อย่างไร ซึ่งเบื้องต้นได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11 บิ๊กซี ท็อปส์ รวมถึง ปตท. และสภาหอฯ กับส.อ.ท.เข้ามาดูช่องทางการตลาดเพิ่มเติมมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเร่งทำฐานข้อมูลให้เกิดการเชื่อมโยงกันต่อไป
นายสมคิด กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว จึงต้องช่วยกันดูแลอุตสาหกรรมอาหารของไทยไม่ให้เสียเปรียบเวียดนาม โดยต่อยอดให้ภาคเกษตรไทยเข้มแข็ง ส่วนข้อเสนอของเอกชนด้านต่างๆ ทั้งเรื่องลดภาษีเงินได้ การเร่งจ่ายคืนภาษี ได้มอบหมายให้กระทรวงคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามข้อเสนอหากเห็นว่าเกิดประโยชน์
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และภัยแล้ง วงเงินรวมประมาณ 10,000 ล้านบาทที่จะขอสนับสนุนจากงบฟื้นฟูแบ่งเป็น 4 ด้าน
1.ด้านเพิ่มประสิทธิภาพ บริหารจัดการและการตลาดซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)
2.ด้านการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับการพักชำระหนี้ และเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยผ่อนปรน 34,500 ล้านบาท(ธพว.) และการลงทุนขยายปรับปรุงกิจการ 24,000 ล้านบาท(ธพว.)
3.การอำนายความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่าย อาทิ เว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน เว้นค่าธรรมเนียมการบริการด้านมาตรฐาน เป็นต้น
4.ด้านการจัดหาแหล่งน้ำและจ้างงาน อาทิ จัดหาแหล่งน้ำและช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ประสบปัญหาภัยแล้งวงเงิน 367 ล้านบาทแบ่งเป็น จัดหาแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในช่วงภัยแล้ง 1,000 บ่อครอบคลุมพื้นที่ 20,000 ไร่
ช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยจัดซื้อพันธุ์อ้อยแจกจ่ายชาวไร่ 20,000 ตันจ้างเหมาเกษตรกรปลูกอ้อยพันธุ์ดีได้ผลผลิต 100,000 ตัน ปรับเปลี่ยนเกษตรกรสู่ Smart Farm 100,000 ไร่ จ้างงานเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำรวจข้อมูลระบบชี้นำเตือนภัย 5,000 ราย และจัดหาแหล่งน้ำขุมเหมือง 30 ล้านบาทครอบคลุมพื้นที่เหมือง 20,000 ไร่เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 500 คน
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่าเบื้องต้นรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มุ่งเน้นช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน ภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบ และระยะต่อไปจะเร่งเน้นช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆ ให้มากขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. กล่าวว่าภาคเอกชนเตรียมพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ให้เป็นช่องทางเดียวร่วมกับสภาหอการค้าฯ จากปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างมีช่องทางในการดำเนินงานเอง ประกอบกับต้องการให้ภาครัฐเร่งพิจารณาข้อเสนอของเอกชนในระยะสั้น
เพื่อบรรเทาผลกระทบธุรกิจที่ยังค้างการพิจารณา อาทิ ขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่เอสเอ็มอี 3 ปี ทุกธุรกิจ(ปีภาษี 2563-65) โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filling ปรับอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายทุกประเภทเป็นอัตราเดียวง 1% เฉพาะปี 2563 เป็นต้น
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าวว่าเอกชนให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากกลุ่มการเกษตรที่มูลค่าสูง และนำสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป แปลงเป็นสินค้ากลุ่มอาหารเพื่อใช้บริโภคในประเทศและส่งออก