แพทย์หนุ่มสุดเจ๋ง พัฒนานวัตกรรม ช่วยแพทย์ ลดเสี่ยงโควิด

เป็นความฮือฮา และเขย่าวงการทางห้องฉุกเฉินของของแพทย์ไทยเป็นอย่างมาก เมื่อนายแพทย์ธีรวัฒน์ สุวรรณี นายแพทย์ประจำคลินิกบ้านหมอ และเป็นศิษย์เก่า ม.อุบลฯ ได้คิดค้นพัฒนานวัตกรรม ติดกล้องขนาดเล็กเข้าไปในอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือทางการแพทย์เรียกว่า VDO Laryngoscope เดิมเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ราคาสูงหลักแสน เหลือราคาเพียงหลักร้อยบาท

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีนวัตกรรมทางการแพทย์ ชิ้นหนึ่งที่ผลิตและคิดค้นโดยศิษย์เก่า แพทย์ รุ่น 1 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชื่อนพ.ธีรวัฒน์ สุวรรณี หรือ “หมอบาส” ปัจจุบันเป็นแพทย์ประจำคลินิกบ้านหมอ ซึ่งเป็นคลีนิคที่เปิดบริการอยู่ที่อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี ได้คิดค้นพัฒนานวัตกรรมสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่แพทย์ให้ทำงานง่ายขึ้น

ลดเสี่ยงโควิด

โดยการติดกล้องขนาดเล็กเข้าไปในอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือทางการแพทย์เรียกว่า VDO Laryngoscope เดิมเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ราคาสูงหลักแสน ซึ่งโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่สามารถซื้อใช้ได้ แต่ด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้นพ.ธีรวัฒน์ สุวรรณี ศิษย์เก่า รุ่น 1 ม.อุบลฯ ได้พัฒนานวัตกรรมเพิ่มศักยภาพเครื่องมือ เพื่อรักษาชีวิตบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ให้ลดลงในภาวะวิกฤตินี้ สามารถลดต้นทุนจากหลักแสน เหลือเพียงหลักร้อย นับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เขย่าวงการแพทย์ ที่ได้รับการแชร์โดยแพทย์ กว่าพันแชร์ และมีการนำไปใช้ต่อในห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ

นพ.ธีรวัฒน์ สุวรรณี ศิษย์เก่า แพทย์ รุ่น 1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมการติดกล้องขนาดเล็กเข้าไปในอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือ VDO Laryngoscope

ลดเสี่ยงโควิด

 

ในการช่วยใส่ท่อช่วยหายใจ โดยปกติ แพทย์ต้องรับลมหายใจจากคนไข้โดยตรง เพราะการใส่ท่อช่วยหายใจแพทย์ต้องส่องกล่องเสียงด้วยตา (ที่อาจจะมีแว่นบางๆกั้นไว้) แล้วสอดท่อช่วยหายใจลงไป ซึ่งเป็นหัตถการที่แพทย์เสี่ยงติดเชื้อมาก โดยเฉพาะโควิด-19 ตนจึงได้ทดลอง นำกล้องกันน้ำขนาดเล็ก ที่มีไฟ LED ในตัว เข้าไปแทนแท่งไฟเบอร์นำแสงเดิมของอุปกรณ์ช่วยใส่ท่อช่วยหายใจปรากฏว่าสามารถใช้งานเทียบเคียง อุปกรณ์ราคาหลักแสนภายใต้ต้นทุนหลักร้อย

หลังจากเผยแพร่ในโลกออนไลน์ พร้อมทั้งเผยแพร่วิธีการประกอบออกไปเกิดการส่งต่อในโลกออนไลน์ ของวงการแพทย์ไทย อุปกรณ์นี้ได้ทำให้ห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ชนิดนี้ได้ และมีการพัฒนาใช้อย่างแพร่หลาย จนอาจจะเป็นมาตรฐานใหม่ของการใส่ท่อช่วยหายใจที่มีความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ และคนไข้ในราคาที่จับต้องได้ปัจจุบัน

ลดเสี่ยงโควิด

หลายโรงพยาบาล ยกเลิกการสั่งซื้อกล้องราคาแพง หลายโรงพยาบาลได้ใช้อุปกรณ์นี้แล้ว คาดว่าในอนาคต การใส่ท่อช่วยหายใจผ่านกล้องอาจจะเข้าไปเป็นหนึ่งในบทเรียน สำหรับนักเรียนแพทย์รุ่นใหม่ เพราะทุกโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงได้แล้ว การแนะนำให้วงการแพทย์รู้จักกับกล้องขนาดเล็กราคาถูก อาจจะได้รับการต่อยอดทำให้ค่ารักษาพยาบาลในการส่องกล้องส่วนอื่นๆถูกลงในอนาคต

นับว่าเป็นนวัตกรรมที่เขย่าวงการทางการแพทย์ของประเทศไทยได้อย่างมาก และเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบัณฑิต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีโดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ที่ใช้ความรู้ความสามารถในวิชาชีพพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูล http://www.guideubon.com/

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน