นายกรัฐมนตรี ประเมินผลปฏิบัติการควบคุม โควิด 19 ภายหลังมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาถึง มอบแนวทางดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่าน

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่ผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาถึง พร้อมมอบแนวทางในการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างห้วงต่างๆ โดยพิจารณาผลกระทบที่ไปถึงยังภาคส่วนต่างๆ ด้วย ขณะนี้ แม้สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ แต่ในการดำเนินการยังต้องมีความเข้มงวด ผ่านการดำเนินการในเชิงรุก รวมทั้ง ให้ควบคุมดูแลการเดินทางเข้า-ออก ประเทศผ่านช่องทางต่างๆ

ผู้เดินทางจะต้องผ่านมาตรการ State Quarantine และมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการฉุกเฉิน ระยะที่ 1 แล้วอย่างเคร่งครัด ขอให้ปฏิบัติต่อไป ห้ามละเลย ให้ ศบค. ด้านความมั่นคง ด้านสาธารณสุข ทหาร ตำรวจ ผู้ประจำด่านตรวจเฝ้าระวัง ปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนด ประสานงานร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการ และดูแล ติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้ ศบค. พิจารณามาตรการในด้านต่างๆ เช่น ด้านการต่างประเทศ พร้อมขอให้รายงานถึงผลกระทบภายหลังการผ่อนคลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงพิจารณาแนวทางการแก้ไข โดยในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การเยียวยา

รวมทั้งข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ได้ยื่นมา และขอให้ศูนย์การช่วยเหลือฯ เร่งดำเนินการและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ นอกจากนี้ ให้ร่วมพิจารณาให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือได้รับความช่วยเหลือทุกคน ไม่ตกหล่น และในส่วนของการเรียนการสอนให้ร่วมพิจารณาเรื่องการเปิดเรียน

และวิธีการเรียนการสอนไม่ให้เกิดผลกระทบ การรายงานสถานการณ์ โควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงได้รายงานถึงจำนวนผู้ป่วย ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการตรวจหาผู้ป่วย เช่น การทำ Active Case Finding ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการสำรวจสถานที่ที่เปิดตามมาตรการผ่อนปรน เช่น ตลาด สวนสาธารณะ

พบว่ามีความเข้าใจต่อการปฏิบัติตนในที่สาธารณะ แต่กลุ่มร้านตัดผมยังขาดความเข้าใจอยู่บ้าง รวมทั้งได้ดำเนินการสำรวจกลุ่มผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้ให้ความรู้กลุ่มเฉพาะ เช่น ศาสนา เรือนจำ ผู้ประกอบการอาหาร การขนส่ง

โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจรวมถึงหลักปฏิบัติต่างๆ ทั้งนี้ สาธารณสุขเห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องคงมาตรการในประเทศให้เข้มข้น และตรึงการนำเข้าจากต่างประเทศ แม้ว่าสถานการณ์ในไทยจะดีขึ้นตามลำดับ แต่สถานการณ์โลกยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง

โอกาสนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีน ว่ามีพัฒนาการ จนคาดว่าจะสามารถนำไปสู่การผลิตวัคซีนได้ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการดำเนินการตามมาตรการผ่อนปรน โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการผ่อนปรนมาตรการ

เช่น ความหนาแน่นของผู้โดยสารบนรถไฟฟ้า BTS ซึ่งควรให้วิ่งรถเต็มจำนวน ทั้งวัน และจำเป็นต้องเตรียมมาตรการรองรับในทุกด้าน เช่น การพักคอย การผ่อนปรนจะต้องค่อยๆ ผ่อนคลายพร้อมกับมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม และมีแผนฉุกเฉินรองรับ โดยย้ำเรื่องการกำหนดเวลาในการทำงานเริ่มงาน ต้องจัดให้มีการเหลื่อมเวลา

เพื่อลดความหนาแน่นในระบบขนส่งสาธารณะอีกทางหนึ่ง และต้องทำให้ชัดเจน ในส่วนของการตรวจเชื้อที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการ ขอให้พิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง จะขอให้ชี้แจงข้อมูลเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ และเพจเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงมาตรการและการดำเนินการ ในส่วนของการรณรงค์ให้ประชาชนใส่หน้ากากเพื่อป้องกันนั้น ควรหลีกเลี่ยงการวิ่ง เมื่อต้องใส่หน้ากากจึงควรออกกำลังกายด้วยการเดินแทน

สำหรับการรายงานการดำเนินมาตรการผ่อนปรน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รายงานกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ/กิจกรรม ที่ได้เริ่มไปแล้วเมื่อ 3 พฤษภาคม 2563 ว่าในส่วนของบางกิจการจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร

ได้แก่ การเปิดสถานดูแลผู้สูงอายุ ร้าน Furniture วัสดุก่อสร้าง กิจการที่เกี่ยวข้องกับด้านสินเชื่อ ประกันภัย ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งคณะกรรมการจะได้พิจารณาผ่อนปรนตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่มีในข้อกำหนด แต่ไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ควบคุมโรค และเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดในการพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 กำลังมีการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 ระดมความคิดเห็นจากส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
  • ขั้นตอนที่ 2 จัดประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2
  • ขั้นตอนที่ 3 ยกร่างข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2
  • ขั้นตอนที่ 4 บังคับใช้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2

ด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข รายงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มเป้าหมายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเพื่อเฝ้าระวัง และค้นหาในกลุ่มเสี่ยง หรือสถานที่เสี่ยง ทั้งนี้ มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค มีความสำคัญ โดยสาธารณสุขได้จัดทำคู่มือการป้องกันและควบคุมโรคโควิด19 และคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า แม้ว่าจะมีการตรวจจำนวนมากขึ้น ซึ่งบางคนจะตรวจแล้วไม่พบเชื้อ หรือ อาจอยู่ในช่วงไม่แสดงอาการ หรือกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งต้องระมัดระวังและสร้างความเข้าใจ ซึ่งขอให้ตรวจสอบในกลุ่มอาชีพ บางกลุ่มด้วย อาทิ เรือประมง พนักงานขับเรือ พนักงานขับรถโดยสาร ต้องได้รับการตรวจดูแล รวมทั้งการจัดระเบียบอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนว่ายังคงมีความเข้มข้น โดยได้สั่งการให้ ทุกจังหวัด และ กทม. ดำเนินตามข้อกำหนดฯ ให้กำกับติดตามให้สถานประกอบการ พนักงาน และผู้ใช้บริการดำเนินการตามมาตรากรที่ ศบค. กำหนด ได้แก่

ทำความสะอาดพื้นที่ จุดล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่าง ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด กรณีการพิจารณาสั่งปิดสถานประกอบการ ให้ดำเนินการตามข้อกำหนดฯ กรณีจะมีการออกคำสั่งปิดสถานที่เพิ่ม ให้รายงานมาที่ ศบค. และกระทรวงมหาดไทยก่อน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน และเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

กรุงเทพมหานครฯ ได้รายงานการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรน โดยได้ตรวจและตักเตือนผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ กรณี รถไฟฟ้า bts ได้สั่งดำเนินการให้กำหนดเจ้าหน้าที่ประจำสถานีให้มากขึ้น เพื่อตรวจจำนวนประชาชนไม่เห็นแออัด และคนจำหน่ายตั๋ว

กระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ โดยมีคนไทยแสดงความประสงค์กลับไทย 45,147 คน แบ่งเป็น ทางบก 25,660 คน ทางอากาศ 19,487 คน ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาการนำบุคคลกลับประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มที่จะได้รับพิจารณานำกลับด่วนที่สุด ได้แก่ กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้ตกค้างสนามบิน วีซ่าหมดอายุ นักท่องเที่ยวตกค้าง

และ กลุ่มที่จะได้รับการพิจารณานำกลับด่วนมาก ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ นักเรียน นักศึกษา คนตกงาน ทั้งนี้จะพิจารณาผ่านองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ความยากลำบากของพื้นที่ ระบบสาธารณสุข รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ และการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาด เป็นต้น ในประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ยืดหยุ่นจำนวนตัวเลขประชาชนที่เข้ามาในประเทศ

เพื่อให้ประชาชนไทยที่ติดค้างยังต่างประเทศได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในส่วนของคนไทยในมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศอำนวยความสะดวก ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งว่าส่งความช่วยเหลือไปให้เกือบทุกรัฐในมาเลเซียอย่างเพียงพอ ซึ่งกรณีนี้ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครมาเลเซียด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปการสั่งการให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงความสมดุล และสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยา ต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข ไม่ใช่เพียงตัวเลขผู้ป่วยที่ลดลง แต่ต้องร่วมช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบ มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต

ต้องดูแลรอบด้าน ไม่ให้เกิดปัญหาท่ามกลางภาวะโควิด โดยขอให้ร่วมกันพิจารณาว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดำเนินมาตรการอย่างไร ต้องช่วยเหลือ เยียวยา และย้ำให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจให้ตรงกัน ผ่านชุดข้อมูลเดียวกันเพื่อป้องกันการบิดเบือน และไม่ให้เกิดความสับสนในสังคม


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน