สธ.แจงหากพบการแพร่ระบาด จะสั่งปิดสถานที่เสี่ยง จนกว่าจะปรับปรุง แต่หากระบาดวงกว้าง พิจารณาสั่งปิดกิจการเสี่ยง แต่พิจารณาเป็นรายจังหวัด

วันนี้ (1 มิ.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้เราไม่เจอผู้ป่วยโควิด-19 ที่เกิดจากการติดเชื้อในประเทศมาสักระยะหนึ่ง ก็สามารถพูดว่าเราสามารคถวบคุมโรคได้ แต่ก็เร็วเกินไปที่จะบอกว่าเราสามารถกำจัดโรคได้หมด ถ้ายังช่วยกันดูแล ป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ คาดว่าจะมีผู้ป่วยในระดับต่ำต่อไป ถ้าพลาดเผลอ รวมตัวผู้คนจำนวนมาก มีผู้ป่วยหลุดเข้าไปได้ โอกาสสถานการณ์กลับมาเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นได้

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะแพร่ระบาด 2.ระยะสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และ 3.ระยะฟื้นฟู ส่วนการแพร่ระบาดมี 3 ระดับ คือ ไม่มีแพร่หรือแพร่ในวงจำกัด แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และการแพร่ในระดับวิกฤต

ตอนนี้ทุกจังหวัดในไทยอยู่ในระดับไม่มีหรือแพร่ในวงจำกัดแล้ว แต่ถ้าย่อหย่อนการป้องกันตนเอง โอกาสสูงมากที่จะแพร่ระบาดต่อเนื่อง และถ้าไม่ควบคุมโรคให้ดี ก็จะแพร่ระบาดในระดับวิกฤต คือผู้ป่วยมากกว่าจำนวนเตียง รพ.ที่จะรับได้

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาสถานการณ์ในอนาคต คงไม่พิจารณาระดับประเทศ จะพิจารณารายจังหวัด โดยหลักเกณฑ์ที่บอกว่าจะกลายเป็นการแพร่ระบาดต่อเนื่อง คือ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีผู้ป่วยมากกว่า 5 คนต่อล้านประชากรต่อวัน หรือผู้ป่วยมากกว่าจำนวนผู้รักษาหายติดต่อกัน 14 วัน ส่วนไปสู่ระดับวิกฤต คือผู้ป่วย 10-15 คนต่อล้านประชากรต่อวัน

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเริ่มผ่อนคลายระยะ 3 จึงต้องเข้มมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล และมาตรการองค์กรมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด โดยมาตรการสาธารณสุข จะเน้นการป้องกัน ค้นหา รักษา และควบคุมโรค มาตรการส่วนบุคคล กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ควรอยู่กับบ้าน ส่วนคนทั่วไปควรออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น เลี่ยงการเป็นกลุ่มก่อน สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ

ที่ห่วงคือ การใส่เฟซชีลด์อย่างเดียว ไม่ใส่หน้ากากออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ซึ่งการใส่เฟซชีลด์อย่างเดียวไม่ใส่หน้ากาก ไม่ช่วยป้องกันตนเองและคนรอบข้าง ถ้าเราติดเชื้อไม่มีอาการ โอกาสแพร่เชื้อมีอยู่ หรือเจอใครไม่สบายโอกาสที่เราติดเชื้อเท่ากับไม่ใส่อะไรเลย

ขณะที่มาตรการองค์กรต้องขอความร่วมมือผู้บริหารองค์กร โดยเฉพาะเรื่องการทำงานอยู่บ้าน เหลื่อมเวลามาทำงาน เพื่อลดความแออัดในสถานที่ทำงาน จะทำไม่ได้ หากผู้นำองค์กรไม่สนับสนุน ลูกจ้างก็จะไม่สามารถทำได้

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับการปิดสถานที่เมื่อพบการแพร่ระบาดนั้น หากพบว่าสถานที่พบผู้ป่วยเป็นแหล่งแพร่โรค ถ้ามีปัญหาการดูแลสถานที่ จังหวัดมีอำนาจให้ปิดสถานที่นั้น และให้ปรับปรุงจนกว่าจะสามารถทำให้มั่นใจว่าป้องกันโรคได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ถ้าเริ่มเจอการระบาดเป็นวงกว้าง จังหวัดอาจเริ่มสั่งปิดธุรกิจ หรือปิดพื้นที่บางแห่งที่จะแพร่โรคระดับสูง นอกจากพื้นที่สอบสวนโรคที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดได้ เพราะถ้าไม่ปิดสถานที่ชุมนุมหรือมีความเสี่ยง โอกาสแพร่ถึงระดับแพร่ควบคุมไม่ได้มีค่อนข้างสูง โดยปิดสถานที่เสี่ยงสูงไล่ไปเสี่ยงต่ำ และคงไม่ปิดทั้งประเทศ ดำเนินการในจังหวัดนั้น และต้องจำกัดการเดินทางออกจากพื้นที่ที่มีการระบาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน