ผู้ประกอบการ ชี้ห้างเปิดได้ ผับ-บาร์ ก็เปิดได้ จี้รัฐช่วย เดือดร้อนหนัก

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 มิ.ย.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 (กพ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผบ.ทบ. ในฐานะประธานคณะทำงานมาตรการผ่อนคลายในคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ศบค.ชุดเล็ก เชิญผู้ประกอบการผับ บาร์ และคาราโอเกะ มาหารือแนวทางการผ่อนคลายมาตรการการเเพร่ระบาดโควิด-19 หลังวันศุกร์ที่ผ่านมา กลุ่มนักดนตรีอิสระได้มีหารือไปแล้ว

พล.อ.ณัฐพล กล่าวตอนหนึ่งว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าขอให้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนทุกภาคส่วน และสิ่งที่นายกฯห่วงใยคือในช่วงเวลาที่ผ่านมา มาตรการการเยียวยาได้ทำมา 3 เดือน เดือนเม.ย.-มิ.ย. แล้วดังนั้นในเดือน ก.ค.นี้จะเป็นช่วงพยายามผ่อนคลายให้ทุกสาขาอาชีพสามารถประกอบอาชีพของตนได้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะหากมีการระบาดรอบที่ 2 ก็คงยากจะแก้ไขกว่าครั้งแรก ดังนั้น นายกฯจึงห่วงใยและให้ความสำคัญกับ เศรษฐกิจ การแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงความปลอดภัยของประชาชน อย่างก็ตาม ในการรองรับการผ่อนคลายเรามีการชั่งน้ำหนักแต่ละกิจการตามความจำเป็น ความเสี่ยง และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม อะไรที่มีความจำเป็นมาก มีความเสี่ยงมาก หรือมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เรานำทั้งหมดมาเปรียบเทียบกัน

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ด้าน นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวว่า ผู้ประกอบการทุกคนให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างดีในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เพราะไม่อยากให้มีการแพร่ระบาด เพื่อให้ทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และสามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม แม้ได้มีการผ่อนคลายระยะที่ 4 แล้ว แต่ยังมีบางคำสั่งครอบหัวพวกเราอยู่ ในช่วงการพิจารณาผ่อนคลายระยะที่ 4 ไม่มีการเชิญพวกเราเข้าไปร่วมให้ข้อเสนอแนะ ธุรกิจในถนนข้าวสารมี มีธุรกิจบางประเภทที่คนไม่รู้จักกันได้มาเจอกัน รวมถึงมีธุรกิจที่คนรู้จักกัน ได้มาทานข้าวและทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งธุรกิจประเภทหลังนี้น่าจะได้รับการผ่อนคลายได้แล้ว

เพราะธุรกิจมีมาตรการด้านสาธารณสุขกำกับอยู่แล้ว ดังนั้น เราอยากทราบว่าถ้ายังต้องเลื่อนการผ่อนคลายออกไป เราต้องทำอย่างไรบ้าง และภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือแบบรูปธรรม ช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ค่าชดเชยจากประกันสังคมช่วยได้แค่บางส่วน เราจึงอยากให้มีการผ่อนคลายให้กับพวกเราและธุรกิจกลางคืน เพราะมีคนจำนวนมากได้รับความลำบาก

ยกตัวอย่างนักดนตรีไม่มีรายได้ประจำ เขาจึงประสบความยากลำบาก แม้ได้เงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการดำรงชีพ จึงถือว่าตอนนี้ทุกภาคส่วนได้รับความลำบากอย่างมาก วันนี้เราจึงอยากทราบว่าถ้าเราจะผ่อนคลายให้ได้หรือไม่ ถ้าผ่อนคลายให้จะเป็นรูปแบบใด จะดำเนินการส่วนไหนก่อนหรือหลัง และถ้ายังไม่ผ่อนคลาย รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือแก่พวกเราที่ชัดเจนได้อย่างไร

ส่วนผู้ประกอบการสถานบันเทิงย่านสุขุมวิท และภูเก็ต กล่าวว่า ตนค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ประกอบการที่มาในวันนี้พร้อมให้ความร่วมมือทั้งหมด ไม่แตกต่างจากร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้าเพราะถ้าร้านอาหารเปิดได้ สถานบันเทิงอย่างพวกตน ก็เปิดได้เช่นกัน เพราะทุกวันนี้ ไม่มีผู้เข้ามาใช้บริการหนาแน่นเหมือนแต่ก่อน ซึ่งก่อนช่วงที่จะเกิดโควิด-19 นี้ เศรษฐกิจก็ตกต่ำอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้มาเที่ยวหนาแน่นเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นตนมองว่าคนที่มาเที่ยวสถานบันเทิงคงไม่มากเท่ากับการใช้บริการรถไฟฟ้า

ทั้งนี้อยากให้รัฐ ให้ความชัดเจนว่าพวกเราจะต้องเตรียมอะไร และจะให้เปิดบริการเมื่อใด เพราะจะได้มีการเตรียมพร้อมในการทำความสะอาดร้าน และทดลองระบบภายในร้าน ที่สำคัญควรปลดล็อกให้นักดนตรี ดีเจ ได้ทำงานก่อนเพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่พนักงานประจำ

นอกจากมีตัวแทนชมรมสถานบันเทิงไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสถานบันเทิงจากทั่วประเทศ มาร่วมพูดคุยหารือด้วย พร้อมยื่นข้อเสนอให้เป็นทางออก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและพนักงานที่เกี่ยวข้องอาทิ การขอสินเชื่อซอฟ์ทโลน 5 ปี , การขอยกเว้นภาษีสรรพสามิต 5 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจหลังโควิด จะฟื้นตัว นอกจากนี้ได้เสนอให้เยียวยาบุคลากรนักร้องนักดนตรี ดีเจ พนักงานทุกตำแหน่ง โดยยืดระยะเวลาสินเชื่อ อีก 3 เดือน (บ้าน รถ) , สินเชื่อระยะสั้น (ออมสิน) ส่วนบุคคล เป็นต้น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน