บอร์ดวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบจองวัคซีนโควิด-19 วงเงิน 2,930 ล้านบาท จากบริษัทผู้ผลิตที่ทดลองในคนระยะ 3 พบมี 10 บริษัท อยู่ระหว่างเจรจา

วันที่ 5 ต.ค.63 พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมรายงานความคืบหน้าแผนการเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับประชาชนในโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนโควิด-19 และเห็นชอบนโยบายการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยการจอง

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ยกร่างประกาศ เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็น พ.ศ. 2563 ตามมาตรา 18 (4) แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดหาวัคซีนสำหรับใช้ในประเทศไทยล่วงหน้า ครอบคลุมประชากร 50% ภายใต้กรอบวงเงิน 2,930 ล้านบาท แบ่งเป็นจากบริษัทผู้ผลิตที่มีความก้าวหน้าการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 ครอบคลุมประชากร 30% และจองผ่านโครงการโคแว็กซ์ ขององค์การอนามัยโลก ครอบคลุมประชากร 20%

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุม 50% ของประชากร คิดเป็นประชากร 33 ล้านคน โดย 1 คน ต้องได้รับวัคซีน 2 โดส เท่ากับว่าต้องใช้วัคซีนราว 66 ล้านโดส ส่วนราคายังไม่ชัดเจน แต่หากสมมติราคาโดสละ 350 บาท ก็ต้องใช้งบราว 2 หมื่นล้านบาท แต่การจองก่อนล่วงหน้าจะใช้งบ 2,930 ล้านบาท โดยอาจใช้จาก พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อโควิด หรืองบกลาง ซึ่งการจองวัคซีนล่วงหน้าเป็นช่องทางที่จะทำให้ไทยได้รับวัคซีนเร็วใกล้เคียงกับประเทศผู้ผลิต ขณะนี้ทั่วโลกมีประมาณ 10 บริษัทที่ก้าวหน้าทดลองวัคซีนในคนระยะที่ 3 คาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จใน ต.ค.นี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

นพ.นครกล่าวว่า หากได้วัคซีนก็จะทยอยเข้ามาและทยอยใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนหลักวิชาการ โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะจัดสรรให้กับกลุ่มใดก่อน ซึ่งตามหลักทั่วโลกกลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนก่อน คือ บุคลากรการแพทย์ เพราะต้องทำงานหน้าด่าน เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากคนกลุ่มนี้ติดเชื้อจะทำระบบสาธารณสุขมีปัญหาได้ ไทยก็ต้องพิจารณาให้กับบุคลากรการแพทย์และคนทำงานหน้าด่านก่อน ส่วนแผนการที่ประเทศไทยต้องการวัคซีนสำหรับคนในประเทศจริงๆ ต้องอยู่ที่ประมาณ 60-70% ของประชากร ซึ่งเป็นแผนระยะถัดไป

นพ.นคร กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไทย ชนิด mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้ได้รับรายงานว่าโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบจะสามารถผลิตวัคซีนต้นแบบและส่งให้กับไทยประมาณ ม.ค. 2564 เพื่อเดินหน้าทดลองในมนุษย์เฟส 1 และเฟส 2 ต่อไป ขณะที่วัคซีนชนิด DNA ของบริษัทไบโอเนท – เอเชีย จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตวิจัยในคน กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน