คาด แหม่มฝรั่งเศส ติดโควิดจากอากาศหน้าห้อง เผยผู้ติดเชื้ออีก 2 ราย อยู่ห้องห้องใกล้กัน เชื้ออาจลอยมาตกบนโต๊ะหน้าห้อง หรือบนภาชนะอาหาร

วันที่ 6 พ.ย.2563 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ในไทย จะมี 3 รูปแบบคือ 1. Spike คือ มีผู้ติดเชื้อขึ้นมาแล้วไม่มีการติดเชื้อต่อ เช่น กรณีดีเจร้านอาหาร และ หญิงฝรั่งเศส ที่เกาะสมุย ที่ไม่พบผู้สัมผัสติดเชื้อเพิ่มเลย

2. Spike & Small Wave มีผู้ติดเชื้อขึ้นมา 1-2 ราย และมีผู้ติดเชื้อตามมาไม่เกิน 50 รายต่อวัน เช่น กรณีพม่าติดเชื้อที่แม่สอด ที่เจอในครอบครัว 5 ราย และสามารถควบคุมได้ และ 3. Spike & Big Wave คือการติดเชื้อขึ้นมาแล้วควบคุมไม่ดี ประชาชนไม่ร่วมมือควบคุมโรคใส่หน้ากาก และเกิดการระบาดรุนแรง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยเกิดเหตุแบบนี้และเชื่อว่าจะไม่มีทางปล่อยให้เกิดขึ้น

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับกรณีหญิงฝรั่งเศสที่สันนิษฐานว่าติดเชื้อภายในสถานกักกันที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ขณะนี้ได้ถอดรหัสพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อ 3 ราย ใน ASQ เดียวกันและอยู่ห้องใกล้ๆ กัน โดยให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาข้อมูล พบว่าทั้ง 3 รายเป็นเชื้อกลุ่มเดียวกัน สายพันธุ์เดียวกัน เพราะรหัสพันธุกรรมค่อนข้างตรงกัน

แปลความได้ว่า เชื้อใน 3 รายนี้มีความเชื่อมโยงกัน และมีสมมติฐานว่า สาเหตุของการติดเชื้อน่าจะเกิดจากการถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี และเชื้ออาจอยู่พื้นที่ส่วนกลางและเกิดการปนเปื้อนขึ้น ตรงนี้ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม หากมีความคืบหน้าจะแถลงเพิ่มเติม แต่ก็ต้องไปย้ำกับสถานกักกันโรคให้เน้นเรื่องการทำความสะอาด ดูแลพื้นที่ส่วนกลาง และระบบระบายอากาศให้มีประสิทธิภาพ จะได้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า การสอบสวนโรคเพิ่มเติมหญิงฝรั่งเศส อายุ 57 ปี จากการตรวจติดตามผู้สัมผัสที่ทำงานในโรงแรมกักตัวก็ไม่พบเชื้อ ส่วนที่ตรวจพบเชื้อในห้องฟิตเนสก็เป็นซากเชื้อ พอตรวจซ้ำก็ไม่พบ และมีการทำความสะอาดแล้ว ถือว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน เพราะผู้ป่วยไม่ได้เข้าไปใช้บริการ คำถามคือติดได้อย่างไร โดยช่วงเวลากักตัวเดียวกัน มีผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติอีก 2 ราย ส่วนรายที่ 3 มาทีหลังจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกันและเชื้อเป็นคนละสายพันธุ์

“จากการตรวจรหัสพันธุกรรมของหญิงฝรั่งเศสและต่างชาติอีก 2 รายนั้น พบว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกัน รหัสส่วนใหญ่เหมือนกัน จึงเชื่อว่าสามคนนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกัน จึงต้องกลับไปสอบสวนทบทวนระบบที่อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ในโรงแรม” พญ.วลัยรัตน์กล่าว

พญ.วลัยรัตน์ กล่าวว่า ระบบที่ไปตรวจสอบได้แก่ คือ 1.ระบบแอร์ พบว่า เป็นระบบหมุนเวียนในห้อง ไม่สามารถข้ามห้องได้ 2.ระบบถ่ายเทอากาศในห้องพัก มีพัดลมดูดอากาศห้องน้ำ ซึ่งพ่วงกับสวิตช์เปิดปิดไฟ ระบบจะทำงานเมื่อเปิดไฟ โดยตัวดูดอากาศจะมีแผ่นกันแรงดันย้อนกลับเข้าห้องหรือลิ้นวาวล์ปิด ทำให้ลมข้างนอกไม่สามารถกลับเข้าไปห้องน้ำได้ และปลายท่อก็ไปต่อกับท่อเชื่อมออกไปดาดฟ้า จึงไม่น่ามีลมเข้าไปผ่านพัดลมดูดอากาศ

และ 3.ระบบท่อน้ำทิ้ง ซึ่งสมัยโรคซาร์สเคยมีกรณีเช่นนี้ ก็พบว่ามี core U-tap ในแต่ละห้อง และเป็นท่อที่วางในแนวดิ่ง แต่ห้องที่พบคืออยู่ในแนวราบชั้นเดียวกัน ดังนั้น การติดระหว่างชั้นจึงเป็นไปไม่ได้

“เมื่อมาดูแผนผังห้อง ห้องที่ผู้ติดเชื้อทั้ง 3 รายพัก อยู่ใกล้ติดกัน โดยหญิงฝรั่งเศสอยู่ห้อง 307 เข้าพัก 8 ต.ค. ออกจาก ASQ วันที่ 15 ต.ค. ต่างชาติอีกรายเข้าพักห้อง 609 เป็นห้องข้างหญิงฝรั่งเศส เข้ามาวันที่ 8 ต.ค. ตรวจพบวันที่ 19 ต.ค. และต่างชาติรายที่ 2 เข้าพักห้อง 631 อยู่ฝั่งตรงข้ามกับหญิงฝรั่งเศส เข้ามาวันที่ 12 ต.ค. และตรวจพบวันที่ 15 ต.ค.

ดังนั้น ทั้งสามห้องมีช่วงเวลาอยู่ด้วยกันคือวันที่ 12-15 ต.ค. จึงต้องมาดูว่าสามารถถ่ายทอดกันได้หรือไม่ ทางวิศวกรและทางสถาบันบำราศนราดูรได้ช่วยกันตรวจสอบ มีข้อสันนิษฐานว่า เชื้ออาจติดผ่านอากาศหน้าห้องหลังจากห้อง 631 เปิดประตูห้อง เนื่องจากเป็นผู้ที่พบการติดเชื้อคนแรก” พญ.วลัยรัตน์กล่าว

พญ.วลัยรัตน์ กล่าวว่า เมื่อเปิดประตูห้อง เชื้อที่ลอยอยู่ในห้อง ก็ติดไปกับลม ออกไปอยู่ในอากาศในห้องโถง ซึ่งปกติจะมีลมปล่อยเพื่อระบายอากาศไม่ให้เกิดเชื้อรา แต่ช่วงโควิดไม่ได้เปิด ทำให้อากาศนิ่งมาก เชื้อสามารถลอยอยู่ในอากาศนิ่งๆ ได้ถึง 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในห้องโถงนั้น ระหว่างห้องจะห่างกัน 1.8 เมตร แต่ละห้องมีโต๊ะวางอาหารหน้าห้อง เป็นไปได้ว่าเชื้ออาจอยู่ในอากาศหรือลอยไปตกบนโต๊ะหน้าห้อง หรือบนภาชนะอาหาร

ขณะนี้กำลังสอบถามทั้งสามรายว่า ตอนออกมาจากห้องสวมหน้ากากหรือไม่ แตะอะไรหรือไม่ ซึ่งหญิงฝรั่งเศสบอกว่า ตอนออกมาใส่หน้ากากทุกครั้ง ส่วนอีกรายสอบถามไม่เจอคนไข้ ก็อยู่ระหว่างการหาคำตอบต่อไป ตอนนี้จะรอผลตรวจจากช่องแอร์ และช่องลม ว่ามีการรั่วหรือไม่ และสอบถามพฤติกรรมผู้ป่วยตอนอยู่ที่ห้องและโรงแรมอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน