สธ.เผยเคสหญิงป่วยติดเตียงอายุ 95 ปี ติดโควิด 19 จากแรงงานพม่าที่จ้างมาดูแล พบแรงงานพม่าติดเชื้อ 4 คน มีประวัติไปตลาดคลองเตย ที่เคยตรวจพบติดเชื้อหลายสัปดาห์ก่อน เร่งสอบสวนโรคเพิ่มเติม ย้ำใส่หน้ากากตลอดเวลา แนะพาตรวจเชื้อก่อนให้ทำงาน

วันนี้ (5 ก.พ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ในพื้นที่ กทม. ไม่พบการติดเชื้อใน 2 เขตหรือเป็นพื้นที่สีขาว ไม่พบการติดเชื้อรายใหม่เกิน 7 วัน หรือเป็นพื้นที่สีเขียวใน 31 เขต ยังพบการติดเชื้อในรอบ 2 วันที่ผ่านมาหรือพื้นที่สีแดงจำนวน 10 เขต อย่างไรก็ตาม สีของแต่ละเขตเป็นการยึดตามผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล อาจไม่ใช่เป็นแหล่งรังโรคจริงๆ อย่างไรก็ตาม เขตที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดมี 6 เขต ได้แก่ บางแค ภาษีเจริญ จอมทอง หนองแขม บางบอน และบางขุนเทียน

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ล่าสุดมีรายงานว่าพบผู้ป่วยติดเตียงเพศหญิงอายุ 95 ปี มีโรคประจำตัว เช่น ไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ในพื้นที่ กทม. ติดเชื้อโควิด 19 ส่วนที่ทราบว่าติดเชื้อเนื่องจากวันที่ 2 ก.พ. ลูกสาวเห็นว่าแม่มีอาการไข้ขึ้น วันที่ 3 ก.พ. พาไปตรวจที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และเจอเชื้อเป็นบวก รายงานผลออกไปวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา

และมีการสอบสวนพบว่า มีการจ้างแรงงานพม่ามาเป็นผู้ดูแล จึงมีการตรวจหาเชื้อด้วย พบการติดเชื้อ 4 คน ส่วนรายละเอียดต่างๆ อยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นพบว่ามีความเชื่อมโยงกับตลาดคลองเตย ซึ่งหลายสัปดาห์ก่อนรายงานพบผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มาก และมีการลงไปสุ่มตรวจคัดกรองที่คลองเตยมีติดเชื้อ 1-2 คน ทีมได้ประวัติว่าอาจมีแรงงานพม่า 1-2 คนที่มีประวัติไปซื้อของที่ตลาดคลองเตย ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม

“ตอนนี้เป็นผลเบื้องต้นที่มารายงานว่ามีการติดในครอบครัวได้ ส่วนลูกของผู้ป่วยยังต้องรอผลการตรวจว่าติดหรือไม่ สำหรับผู้ป่วยติดเตียงรายนี้ไม่ได้อยู่กลุ่มที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่จากการที่อายุมากและมีโรคประจำตัวก็อาจจะมีความลำบากพอสมควร” นพ.จักรรัฐกล่าวและว่า ทั้งนี้ ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีโรคประจำตัว ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ เพราะผู้ป่วยติดเตียงมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนแข็งแรง ขณะที่ครอบครัวก็ต้องสร้างความมั่นใจว่าจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้ดูแลด้วย เพราะบางคนไม่ได้ดูแลแค่ครอบครัวเดียว อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังในผู้สูงอายุและเด็ก เรายังไม่ผู้ดูแลคนไทยมีการติดเชื้อเลย

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของพม่ามี 4 อย่าง คือ 1.ไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านพักและที่ทำงาน 2.วันหยุดรวมตัวกันกินข้าวที่หอพัก 3. วันหยุดไปหอพระ ไปฟังพระเทศน์และไปจอยกันตรงนั้น หลายที่เป็นเผ่าที่ชอบกินหมากและมีการแชร์กัน และ 4.การไปตลาด ทั้งไปซื้อให้นายจ้างและซื้อให้ตัวเอง ดังนั้น วัด ตลาด โรงงาน หอพักคือจุดเสี่ยง พระก็อาจจะต้องมีการสุ่มตรวจด้วย ส่วนนายจ้างที่บ้านมีผู้ป่วยติดเตียงหรือมีโรคประจำตัว ถ้ามีลูกจ้างเป็นพม่าควรพาไปตรวจ ซึ่งค่าตรวจ 1,600 บาท ถ้ามีหลายคนก็ตรวจแบบพูลแซมเปิลได้ เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเองมากที่สุด และดูพฤติกรรมคนในบ้าน สั่งเลยห้ามแรงงานพม่าไปพบคนอื่นนอกบ้าน ไปซื้อของก็ซื้อตามเวลา ลดจำกัดการเคลื่อนที่ มิเช่นนั้นวันหยุดก็อาจไปเจอกันสมุทรสาคร ซึ่งหลายเคสที่เจอเป็นแบบนี้

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนที่มีการพบปะหาสู่กันในหมู่ญาติ ในช่วงวันซื้อวันไหว้มี 3 ประเด็นที่ต้องระวัง คือ 1. การไปซื้อของที่ตลาด ขอให้สวมหน้ากาก ล้างมือ ผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวขอให้อยู่กับบ้านและให้ลูกหลานไปซื้อแทน 2. การแจกอั่งเปาอาจใช้ระบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสร่วมซองอั่งเปาหรือเงิน และ 3. การรวมญาติรับประทานอาหารด้วยกันที่บ้าน ขอให้มีการเว้นระยะห่าง งดดื่มสุรา เนื่องจากทำให้การครองสติลดลง และลดการพูดคุยเสียงดัง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการแพร่เชื้อในครอบครัวและนำไปสู่ครอบครัวอื่น ส่วนวันเที่ยวที่มีการไปท่องเที่ยวหรือไหว้พระไหว้เจ้า ขอให้ศึกษาสถานที่ไปว่าช่วงไหนมีคนจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปแออัด โดยขอให้ไปสถานที่ผู้คนไม่มาก เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากตลอดเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน