ศบค.เผยเคส จนท.จุฬาฯ ติดโควิด 3 ราย มีแนวโน้มติดเชื้ออีก 9 ราย คัดกรองโรงงาน กทม.แล้ว 123 แห่ง 13,480 คน เจอติดเชื้อ 54 คน พบ “จักรเย็บผ้า” จุดเสี่ยงแพร่เชื้อ ย้ำยังต้องเฝ้าระวังส่วนบุคคล มีมาตรการองค์กร และหอพัก ป้องกันการติดเชื้อ

วันที่ 8 ก.พ.2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด- 19 (ศบค.) กล่าวถึงการติดเชื้อโควิด 19 ใน กทม. 3 รายวันนี้ ว่า เป็นการติดเชื้อในเจ้าหน้าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการสอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ พบว่า 9 รายมีแนวโน้มเป็นผู้ติดเชื้อ ขอให้ติดตามรายละเอียดต่อไป

อย่างไรก็ตาม จุฬาฯ มีการรายงานสอบสวนวงจรการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด เพื่อกำหนดผู้มีความเสี่ยงภายในระยะ 14 วันก่อนวันที่ 6 ก.พ.ที่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนผู้ที่พบว่าติดเชื้อหรือสัมผัสเสี่ยงสูง มีมาตรการให้ลาหยุดดูอาการ 14 วัน มาตรการทำความสะอาดพื้นที่ และมีคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ของจุฬาฯ ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดเพื่อการดูแลอย่างถูกต้อง

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ส่วนการคัดกรองโรงงานใน กทม.ดำเนินการแล้ว 123 แห่ง ตรวจพนักงาน 13,480 ราย พบติดเชื้อ 54 ราย คิดเป็น 0.4% มีการสอบสวนการใช้ชีวิตในโรงงานเพื่อค้นหาจุดเสี่ยงสัมผัส โดยเก็บตัวอย่างเชื้อในจุดสัมผัสต่างๆ พบว่าเจอในอุปกรณ์การทำงาน เช่น จักรเย็บผ้า แต่จุดสัมผัสอื่นๆ เช่น ลูกบิดประตู สแกนนิ้ว ไม่พบเชื้อ มีการทำความสะอาดดี

“กรณีการติดเชื้อของจุฬาฯ หรือพื้นที่โรงงาน เน้นย้ำเสมอว่ามาตรการเฝ้าระวังส่วนบุคคลสำคัญสูงสุด อย่างคอนโด หอพักหลายพื้นที่ก็ทำได้ดี มีการวัดอุณหภูมิ สแกนคิวอาร์โคดก่อนเข้า องค์กรต่างๆ ก็ต้องออกมาตรการดูแลบุคลากรด้วย แม้จะพบผู้ติดเชื้อในสถานที่เหล่านี้ แต่คนเสี่ยงสูงคือ สมาชิกครอบครัวเดียวกันกับผู้ป่วย

การพูดคุยกับผู้ป่วยเกิน 5 นาที ถูกผู้ป่วยไอจามรด และอยู่สถานที่อับอากาศ พูดคุยเกิน 15 นาที ไม่สวมหน้ากาก แต่คนที่พักอาคารเดียวกัน ใช้พื้นที่สาธารณะเดียวกันกับผู้ป่วยไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงสูง แต่ต้องระมัดระวังรักษาความสะอาด ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่ไปสนทนาเกิน 5 นาที” พญ.อภิสมัยกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน