คลัสเตอร์จุฬานิวาสติดแล้ว 22 ราย เปิดต้นตอเชื้อ เริ่มจากพนักงานส่งเอกสารนำมาติดในวงของผู้อาศัยชั้น 12 ของอาคาร ก่อนลามรปภ.-แม่บ้าน-คนวงนอก

เกาะติดข่าว กดติดตามข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 16 ก.พ. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 72 ราย ติดเชื้อในประเทศ 69 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย หายป่วยเพิ่ม 680 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 24,786 ราย รักษาหายสะสม 23,563 ราย ยังรักษาอยู่ 1,141 ราย เสียชีวิตสะสม 82 ราย หากนับเฉพาะระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 20,549 ราย หายป่วย 19,386 ราย เสียชีวิต 22 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่มาจาก 1.สมุทรสาคร 16 ราย คิดเป็น 23.19% มาจากระบบเฝ้าระวังทั้งหมด

สะสม 15,593 ราย คิดเป็น 79.26% และ 2.จังหวัดอื่นๆ 53 ราย คิดเป็น 76.81% มาจากระบบเฝ้าระวัง 5 ราย และคัดกรองเชิงรุก 48 ราย สะสม 3,156 ราย คิดเป็น 16.04% สำหรับ กทม.ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสะสม 924 ราย คิดเป็น 4.70%

“การทำคัดกรองเชิงรุกยังทำในจังหวัดใหญ่ๆ อยู่ที่สมุทรสาคร ปทุมธานี และ กทม.บางพื้นที่ พบผู้ติดเชื้อน้อยลง อาจทำให้เราผ่อนคลายได้บ้าง แต่อย่าเพิ่งวางใจ การ์ดยังต้องไม่ตก” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อแยกตามที่มาของผู้ติดเชื้อ คือ 1.ระบบเฝ้าระวัง 21 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 16 ราย นครปฐม 1 ราย สมุทรปราการ 2 ราย ปทุมธานี 1 ราย และขอนแก่น 1 ราย 2.คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 48 ราย ได้แก่ ปทุมธานี 47 ราย พระนครศรีอยุธยา 1 ราย และ 3. มาจากต่างประเทศ 3 ราย ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ประเทศละ 1 ราย

“ภาพรวมการติดเชื้อในแต่ละจังหวัดที่ลดลงมาทุกสัปดาห์ เหลือ 11 จังหวัดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้มีการติดเชื้อ 16 จังหวัด คือเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในการควบคุมดูแล สำหรับ 14 จังหวัดที่ไม่มรายงานผู้ติดเชื้อโควิด 19 ระลอกใหม่เลยและต้องชื่นชม ได้แก่ ศรีสะเกษ บึงกาฬ ยโสธร กาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี พังงา ชุมพร ปัตตานี และยะลา ซึ่งร่วมกันดูแลอย่างดี” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์จุฬานิวาส ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน 40-49 ปี และ 50-59 ปี ส่วนใหญ่มีอาการไอ เสมหะ ปวดกล้ามเนื้อ และเหนื่อยหอบ ส่วนไทม์ไลน์เคสแรกเจอวันที่ 29 ม.ค.แต่พอสืบสวน ปรากฏเจอว่าเคสที่ 11 ติดตั้งแต่ 18 ม.ค. เคสที่ 5 และ 6 ติดวันที่ 20 ม.ค. และเคสที่ 9 วันที่ 22 ม.ค. ทำให้เกิดการติดเชื้อในคลัสเตอร์นี้ตามมา 22 ราย

จากการวิเคราะห์ที่มาของกลุ่มก้อนนี้ เริ่มจากพนักงานส่งเอกสารอายุ 56 ปี นำมาติดในวงของผู้อาศัยในชั้นที่ 12 ของอาคารจุฬานิวาสน์ จำนวน 7 คน เช่น ญาติ แม่บ้าน จากนั้นติดคนในอาคารเดียวกันเพิ่มอีก 3 คน และมีการติดในกลุ่ม รปภ.ที่ทำงานด้วยกัน สแกนที่เดียวกัน ฝึกร่วมแถว รับประทานอาหารด้วยกัน และไปติดญาตินอกวงอีก 5 คน และคนนอกวงไปทำงานที่บริษัทก็ไปติดอีกวงหนึ่ง

“ที่ประชุมพูดกันกิจกรรมสำคัญที่ต้องป้องกัน คือ พักอาศัยในที่เดียวกัน ทำงานร่วมกัน กิจกรรม ทานอาหารร่วมกัน เข้ากิจกรรมรวมแถว รปภ.ร่วมกัน น่าสงสัยว่ามีการใกล้ชิดกัน และจุดสแกนนิ้วมีเชื้อด้วย เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้จากกรณีศึกษา ที่ทำงานใดๆ มีพนักงานอยู่รวมกัน ฝากดูแลทำความสะอาด จุดสัมผัสคือนิ้วไปสัมผัสซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงต้องเช็ดมือล้างมือบ่อยๆ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การสำรวจการตลาดเพื่อสังคม โดยกรมควบคุมโรคและ สสส.พบว่า 1 ใน 4 ของคนไทยไม่ค่อยล้างมือก่อนกินข้าว การนั่งใกล้กัน รับประทานอาหารเกิดความไม่สะอาด เพราะชุดนิสัยพฤติกรรม ขอฝากล้างมือกันก่อน เพราะไม่รู้ไปหยิบจับอะไรมา พอมาอยู่ใกล้กัน โต๊ะอาหารร่วมกัน ก้จะมีการแพร่โรคได้ ฝากดูแลสุขอนามัยอย่างดีจะได้ปลอดโรคปลอดภัย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน