ภาระกิจลุล่วง รองผวจ.สมุทรสาคร ปิดรพ.สนาม แห่งที่1และ3 หลังสถานการณ์โควิดในพื้นที่ดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่ที่ตัวเลข2หลัก เผยกลุ่มที่รับวัคซีนชุดแรก สบายดีไม่มีอาการข้างเคียง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. วันที่ 1 มีนาคม 2564 นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าฯ ,นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร , นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ทหาร ตำรวจ ตัวแทนภาครัฐ และเอกชน

ร่วมกันตรวจเยี่ยมอำลาโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก ภายหลังจากที่ประกาศปิดศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร กับ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3 วัฒนาแฟคตอรี่ ที่เปิดใช้เป็นวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากที่ผู้ติดเชื้อรายสุดท้ายออกจากศูนย์ห่วงใยคนสาครทั้ง 2 แห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งบรรยากาศภายในศูนย์ฯ แห่งที่ 1 ขณะนี้ ก็คงเหลือแต่เตียง ชุดเครื่องนอน อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้เท่านั้น โดยยังคงมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเฝ้าดูแลรักษาสิ่งของภายในตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าการขนย้ายและการรื้อถอนโครงการสร้างจะแล้วเสร็จ

นายธีรพัฒน์ กล่าวว่า ณ วันนี้การปิดโรงพยาบาลสนามของจังหวัดสมุทรสาคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เบื้องต้นจะดำเนินการปิดทั้งหมด 2 ศูนย์ฯ คือ ที่ศูนย์สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร (ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1) และศูนย์วัฒนา 1 หรือวัฒนาแฟคตอรี่ (ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3) โดยได้ปิดลงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป

ส่วนการบริหารจัดการสิ่งของภายในศูนย์ฯ นั้น จะดำเนินการทำความสะอาดแล้วนำไปบริจาค แต่ถ้าส่วนไหนที่เป็นขยะติดเชื้อ จะนำไปกำจัดตามกระบวนการของขยะติดเชื้อต่อไป นอกจากนี้สิ่งของภายในศูนย์ห่วงใยที่ปิดตัวลงนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายนำไปใช้ในศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 9 และแห่งที่ 10 ได้ด้วย

นายธีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมของจังหวัดสมุทรสาครในวันนี้ ถือว่าดูดีขึ้นมาก จากตัวเลขที่พบผู้ติดเชื้อ 2 หลักมานานนับสิบวันแล้ว จึงเชื่อมั่นได้ว่าสถานการณ์ของจังหวัดเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันเมื่อทางจังหวัดเราได้รับวัคซีนจากการจัดสรรของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขนั้น จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่จังหวัดสมุทรสาครของเราได้มากขึ้น ส่วนประชาชนที่สนใจอยากจะฉีดวัคซีนนั้น ในช่วงแรกนี้จะต้องทำการฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มตามที่กำหนดไว้ก่อน จากนี้จะมีวัคซีนล๊อตใหม่เข้ามาเพิ่มเติมอีก ก็จะฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไปได้

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประชาชนที่ไม่อยู่ในข่าย 5 กลุ่มเสี่ยงนั้น ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจะมีการประชุมหารือเพื่อที่จะวางแผนให้พี่น้องประชาชนได้เข้าถึงการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยอาจจะต้องมีการลงทะเบียนตามกลุ่มที่กำหนด เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการเข้ารับวัคซีน

ส่วนอาการล่าสุดของท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครและผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนกลุ่มนำร่องทั้ง 159 คน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ณ โรงพยาบาลสมุทรสาครหลังผ่านพ้นมาแล้ว 24 ชั่วโมงนั้น ในส่วนของนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าฯ ก็บอกอย่างขำๆ ว่า ตนเองยังไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ มีแค่การง่วงนอนซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากวัคซีนหรือความอ่อนเพลียของตัวเอง แต่โดยภาพรวมแล้วผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกคนยังไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ

ด้านนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร ก็บอกว่า หลังจากที่รับพื้นที่คืนกลับมาจากทางจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ก็จะดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการโรคติดต่อในการจัดการข้าวของเครื่องใช้ ให้นำออกไปดำเนินการตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อให้ความเห็นชอบ

หลังจากนั้นทางผู้รับจ้างก็จะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเต็นท์ออก ส่วนอุปกรณ์ใดที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 ทาง อบจ.สมุทรสาคร ก็จะรีบทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อน แล้วนำไปมอบให้กับศูนย์ฯ แห่งที่ 10 โดยจะรีบดำเนินการรื้อถอนให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ดำเนินการตามโครงการปรับปรุงลู่ยางสังเคราะห์เพื่อคืนพื้นที่สนามกีฬาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างเร็วที่สุด

ส่วนนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวด้วยว่า ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 หรือโรงพยาบาลสนามเชิงสะพานท่าจีน บนที่ดิน 49 ไร่ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างเฟสแรกขนาด 200 เตียง ทั้งนี้ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 ไม่ได้สร้างเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในปัจจุบันเท่านั้น แต่มองไกลไปถึงในอนาคตด้วย หากพบผู้ติดเชื้อจากการระบาดรอบใหม่ จังหวัดสมุทรสาครจะได้มีสถานที่ไว้รองรับอย่างทันท่วงที

หรือหากไม่มีการระบาดแล้ว อาจปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ Local Quarantine เพื่อใช้เป็นสถานที่พัก 14 วัน สำหรับแรงงานที่เพิ่งเดินทางเข้ามาในจังหวัดสมุทรสาครก่อนเข้าทำงาน หรือ ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

สำหรับโรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 1 หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร รับผู้ป่วยครั้งแรกจำนวนกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 โดยเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร

ส่วนโรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 3 หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร วัฒนาแฟคตอรี่ ประเดิมรับผู้ป่วยครั้งแรกจำนวน 6 คน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาครเช่นเดียวกัน โดยศูนย์ห่วงใยคนสาครทั้ง 2 แห่ง สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่พร้อมกันในวันสุดท้ายคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน