‘หมอยง’ ชี้สายพันธุ์อังกฤษเด่นในไทย แนะเร่งสกัดสายพันธุ์แอฟริกาใต้-บราซิล กลายพันธุ์แล้วภูมิคุ้มกันจับยากขึ้น เร่งป้องกันเชื้อเข้าประเทศ

วันที่ 11 เม.ย. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด 19 ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต พบว่าวัคซีนโควิด 19 ทุกตัว ไม่ว่ายี่ห้อใดประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน คือ ป้องกันเกือบ 100% ส่วนป้องกันอาการเล็กน้อยถึงปานกลางก็ใกล้เคียงกันทุกตัว ไม่แตกต่างกันมาก อย่างแอสตร้าเซนเนก้าก็ป้องกันอาการเล็กน้อย-ปานกลาง 78% จึงขอให้มั่นใจประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในไทย

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า การป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ต้องยอมรับว่าไวรัสตัวนี้เป็น RNA ไวรัส มีการกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการปกติ ซึ่งอาจทำให้ติดง่ายติดยาก ความรุนแรงของโรคเปลี่ยนไป และความคงอยู่ของไวรัส ซึ่งขณะนี้ไวรัสกลายพันธุ์ที่กำลังกังวลคือ สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษ พบว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันทั้งสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์อังกฤษได้ไม่แตกต่างกัน เหมือนวัคซีนหลายตัวก็ป้องกันได้ไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อังกฤษ กลายพันธุ์ในตำแหน่งส่วนที่จับกับพื้นผิวของเซลล์มนุษย์ “ACD2” ทำให้แพร่ง่าย เพิ่มจำนวนง่าย ปริมาณไวรัสค่อนข้างเยอะ กระจายโรคได้เร็ว แต่ RNA ไวรัสตายง่าย การล้างมือ ทำความสะอาดพื้นผิวสามารถจัดการได้เหมือนเดิม

ส่วนสายพันธุ์ที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีน คือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และบราซิล เพราะกลายพันธุ์โดยการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนในตำแหน่งที่สำคัญคือ ตำแหน่งที่ 484 ทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนจับได้น้อยลง ประสิทธิภาพจึงลดลง อย่างวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือโนวาแวค ที่ทดสอบในแอฟริกาใต้ก็พบประสิทธิภาพลดลง แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรคได้

“สิ่งที่ต้องระวัง คือ ป้องกันไม่ให้เข้ามาในบ้านเรา ซึ่งขณะนี้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ แอฟริกา บราซิล มีการกักตัว ป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์เข้าไทย แต่ถึงทำเต็มที่ก็ยังหลุดสายพันธุ์อังกฤษเข้ามา ซึ่งจากนี้จัดเป็นสายพันธุ์เด่นในไทย ดังนั้น ขอให้การ์ดอย่าตก เมื่อมีวัคซีนและเคลียร์สายพันธุ์อังกฤษไปหมดแล้ว ต่อไปถ้าเกิดใครติดเชื้อจะตรวจง่ายขึ้นว่า มีสายพันธุ์ที่หลุดรอดมาหรือไม่ และสามารถกำจัดทำให้หมดไปได้” ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า อิสราเอลฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้มากที่สุดในโลก ใช้วัคซีนของไฟเซอร์ ทำให้อุบัติการณ์ป่วยลดลงมโหฬาร ส่วนของแอสตร้าเซนเนก้ามีการฉีดมากที่สุดในอังกฤษ การติดเชื้อก็ลดลงเช่นกัน และลดการเสียชีวิต กำลังจะเปิดประเทศแล้ว ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีเมื่อได้ข่าววัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทำให้จึงหยุดๆฉีดๆ ทำให้เกิดระลอกที่ 3

“การฉีดวัคซีนมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนมีได้ แต่โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด ตอนนี้มีการยอมรับว่าอาจเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่อุบัติการณ์ในการเกิดน้อยมาก ส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อยกว่า 55 ปี เป็นเพศหญิงที่อาจกินยาเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน อังกฤษมองว่าประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนมากมายจึงลดป่วยตายจากโควิดได้มาก และการนำวัคซีนมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงจากวัคซีน ดังนั้น ในระดับหมู่มาก หากต้องการควบคุมโรคนี้ให้ได้ และต้องการลดอัตราการเสียชีวิต ลดการนอนใน รพ. เพราะการไปอยู่รพ.มาก จะกระทบกับผู้ป่วยปกติ วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน แม้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประโยชน์ย่อมมากกว่าความเสี่ยงมากมาย และเราต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด” ศ.นพ.ยงกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน