ครม.เห็นชอบแก้กฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคโควิด-19

เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า

เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (ฉบับที่ 3) โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ยกเลิกนิยามเดิมของคำว่า “ค่าใช้จ่าย” และให้ใช้ข้อความ “ค่าใช้จ่ายหมายความว่าค่าใช้จ่าย จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาล หรือการส่งต่อผู้ป่วย และให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีน หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ที่ปรากฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขนี้” แทน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ได้ให้ยกเลิกนิยาม “ผู้ป่วย”เดิม และให้ใช้ข้อความ “ผู้ป่วย” หมายความว่า ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 และให้หมายความรวมถึง บุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลที่ภาครัฐกำหนด และเกิดอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน แทน ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป เว้นแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ได้เพิ่มค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วยในอัตราค่าใช้จ่ายตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงาน และค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ ส่งต่อผู้ป่วยในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เช่น

ค่ารถยนต์ส่งต่อผู้ป่วยระยะทางไม่เกิน 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท ระยะทางไปกลับมากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท ค่าเรือหรือแพขนานยนต์ส่งต่อผู้ป่วย จ่ายชดเชยตามระยะทางและชนิดของเรือ เช่นระยะทางไปกลับ 5-15 กิโลเมตร เรือหางยาวเร็ว 1,200 บาท เรือเร็ว 2,000 บาท เรือเร็ว 2 เครื่องยนต์ 5,000 บาท ระยะทางไปกลับ 101 กิโลเมตรเป็นต้นไป เรือเร็ว 35,000 บาท เป็นต้น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนค่าอากาศยานปีกหมุน หรือเฮลิคอปเตอร์ กรณีเฮลิคอปเตอร์ 1 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 40,000 บาท เฮลิคอปเตอร์ 2 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 80,000บาท เฮลิคอปเตอร์ 3 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 120,000 บาท และเฮลิคอปเตอร์ 4 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 160,000 บาท สำหรับค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน