วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 2,010 ราย สะสม 61,699 เสียชีวิต 15 ราย ย้ำเร่งปรับระบบรักษา วอนขอเตียงให้คนไข้หนัก ย้ำปม “วัคซีน” อาการคล้ายอัมพฤกษ์ ยอมรับได้

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 28 เม.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,010 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,893 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 100 ราย จากสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด 11 ราย รวมติดเชื้อสะสม 61,699 ราย เสียชีวิต 15 ราย รวมสะสม 178 ราย ผู้ติดเชื้อระลอกเดือนเม.ย.มีผู้เสียชีวิตสะสม 84 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต 15 ราย เป็นเพศชาย 11 ราย เพศหญิง 4 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร
9 ราย, เชียงใหม่ 2 ราย, สมุทรปราการ 2 ราย, ชลบุรี 1 ราย และระนอง 1 ราย สรุปภาพรวมผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคความดันสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ปอดเรื้อรัง หอบหืด ไตวายเรื้อรัง ไทรอยด์ ภาวะอ้วน สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ โดย 1 รายเป็นผู้เสียชีวิตที่รอคิวตรวจเป็นเวลา 3 วัน

จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดตามลำดับ ได้แก่ กทม. 830 ราย, สมุทรปราการ 161 ราย, ชลบุรี 108 ราย, นนทบุรี 71 ราย, สมุทรสาคร 59 ราย, ปทุมธานี 57 ราย, เชียงใหม่ 55 ราย, สงขลา 52 ราย, สุราษฎร์ธานี 40 ราย และ นครปฐม 38 ราย โดยมี 3 จังหวัดที่เป็นสีแดง พบผู้ติดเชื้อ 100 รายขึ้นไป จังหวัดสีเขียว 35 จังหวัด และมี 9 จังหวัด สีขาว ไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ คือ สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ไปสถานบันเทิง และจากการค้นหาเชิงรุก จึงขอให้เฝ้าระวังการสัมผัสกับบุคคลใกล้ชิด คนในครอบครัว การโดยสารรถคันเดียวกัน เป็นต้น ที่ต้องจับตาคือคลัสเตอร์พนักงานร้านอาหาร ไปเที่ยวสถานบันเทิงเมื่อวันที่ 2 เม.ย. โดยผลตรวจยืนยันติดเชื้อ และติดเชื้อในกลุ่มก้อนเดียวกัน 12 ราย และสอบสวนผู้ใกล้ชิดเพิ่มเติม

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับกับการโทรศัพท์แจ้งข้อมูล และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ หลายรายยังรอประสานเรื่องเตียง โดยเฉพาะใน กทม. ซึ่งกรมการแพทย์รายงานว่านับถึงวันที่ 27 เม.ย. มีจำนวนผู้ป่วย 9,645 ราย และอยู่ในกลุ่มอาการหนัก รุนแรง และรุนแรงปานกลาง เกิน 1 พันราย ยืนยันทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน เพิ่มคู่สายรับเรื่องเพื่อนำประชาชนเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง ดูแลและจัดหาเตียง ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้แม้จะมีโรงพยาบาลสนามเพิ่ม แต่ใน
กทม.อาจไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากมีผู้ที่มีอาการรุนแรง ใส่ท่อช่วยหายใจ ยังมีตัวเลขสูงครึ่งต่อครึ่ง

จึงขอความร่วมมือว่าผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการรุนแรง ขอให้ไปที่โรงพยาบาลสนาม เพื่อให้เตียงกับผู้ป่วยที่จำเป็น ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอเตียง ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการแยกกัก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือสัมผัสใกล้ชิดกัน โดยเจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกนำเข้าข้อมูล คัดกรอง และประสานงานเตียง ระหว่างนี้ประชาชนสามารถเข้าไปทำแบบประเมินอาการในแอพพลิเคชั่นไลน์ sabaideebot เพื่อรอการติดต่อกลับภายใน 1-2 วัน

สำหรับการฉีดวัคซีน ยืนยันว่ามีความจำเป็นที่ทุกคนต้องฉีด โดยแผนของภาครัฐต้องการให้ครอบคลุมประชากร 70 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 50 ล้านคน คนละ 2 โดส รวม 100 ล้านโดส และขอทำความเข้าใจกับประชาชนที่กังวลว่า การฉีดแล้วอาจมีอาการคล้ายอัมพฤกษ์ แต่เมื่อตรวจอาการแล้วพบว่า ไม่น่าจะใช่ ลักษณะคล้ายกับเป็นไข้แต่ไม่ได้มีไข้ และต้องไปค้นหาสาเหตุอาการต่อ

ซึ่งในทางการแพทย์เป็นภาวะที่ยอมรับได้ แต่ในภาพข่าวอาจจะเห็นว่ามีผู้ให้ความเห็นแย้งซึ่งเป็นธรรมดา เราต้องข้อมูลหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงเพื่อมาชี้แจง บางครั้งในสถานการณ์วิกฤตความขัดแย้งที่เกิดซึ่งกันและกัน เป็นเพราะเกิดจากความห่วงใยและใส่ใจประชาชน จึงเห็นต่างกันได้ โดยอยู่บนพื้นฐานที่ช่วยกันดูแลประชาชน และเคารพซึ่งกันและกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน