สธ. ชี้ สถานการณ์โควิด เริ่มชะลอลง แต่คนป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ย้ำช่วยกันลดการติดเชื้อ ป้องกันตัวเอง 100% เข้มใส่หน้ากากป้องกันตัวเอง อย่าไปคิดเรื่องถูกปรับ

วันที่ 28 เม.ย.64 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกยังมีติดเชื้อสูง เพิ่มขึ้นวันละ 8 แสนราย อินเดียติดเชื้อใหม่สุงสุดวันละ 3.6 แสนราย สหรัฐอเมริกาแม้ฉีดวัคซีนจำนวนมาก แต่การติดเชื้อใหม่ก็ยังสูง 4.7 หมื่นราย ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี การติดเชื้อใหม่ก็ยังสูง

ส่วนประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 2,012 ราย ถือว่าชะลอตัว แต่อยู่ในหลัก 2 พัน ส่วนการเสียชีวิตระลอกเม.ย.สะสม 84 ราย ผู้กำลังรักษา 28,119 ราย มีอาการปอดอักเสบ 695 รายทั่วประเทศ สูงสุดใน กทม.กว่า 200 ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 199 ราย อยู่ที่กทม. 81 ราย สมุทรปราการ 16 ราย ชลบุรี 13 ราย ปทุมธานี 10 ราย เชียงใหม่ 9 ราย นนทบุรี นครราชสีมา ศรีสะเษ จังหวัดละ 6 ราย ลำพูน 5 ราย นครศรีธรรมราช 4 ราย เป็นต้น

“สถานการณ์ขณะนี้ที่ต้องติดตามและช่วยกัน คือ จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มคงตัว แต่จำนวนเสียชีวิตเริ่มสูงขึ้น เพราะผู้ป่วยที่กำลังรักษาในขณะนี้เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งมีโรคประจำตัวตรงกับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรค ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต ไขมันในเลือดสูง หลายคนมีภาวะอ้วนสูง ทำให้ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือไม่ทราบว่าติดเชื้อในครอบครัว มากกว่าไปสถานที่เสี่ยง

โดยวันนี้ผู้เสียชีวิต 15 รายนั้นเป็นชาย 11 ราย หญิง 4 ราย ระยะเวลาตั้งแต่ทราบผลติดเชื้อจนถึงเสียชีวิตไม่ได้ยาวมากเพียงแค่ 7 วัน เนื่องจากมีโรคประจำตัว บางรายไม่ทราบว่าติดเชื้อ แต่มารักษาใน รพ.และเสียชีวิต เมื่อส่งตรวจไวรัสก็พบ 2 ราย ต้องเพิ่มความเข้มงวดการเฝ้าระวังถัดไป” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

ติดเชื้อหลัก 2 พัน แต่เริ่มชะลอตัว

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันใน 4-5 วันที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 2 พันราย แต่เริ่มชะลอตัวลง ไม่ได้สูงขึ้นจากเดิมมากแล้ว ซึ่งคาดว่าที่สูงนี้มาจากการรับเชื้อก่อนหน้านั้นในช่วงของสงกรานต์หรือหลังเทศกาลสงกรานต์ ส่วนการออกมาตรการปิดสถานบันเทิงวันที่ 10 เม.ย. หรือการประกาศตามข้อกำหนดฉบับที่ 20 วันที่ 18 เม.ย.

ผ่านมา 1 สัปดาห์คาดว่าจะช่วยชะลอการแพร่ระบาด แต่จำนวนผู้ติดเชื้อ 2 พันรายต่อวันไม่ใช่จำนวนที่เรามีความพึงพอใจ เพราะจากจำนวนผู้ป่วยที่มากในแต่ละวัน เราจะประสบปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการเตียง และประสบปัญหาเรื่องของจำนวนผู้ป่วยที่เริ่มมีความรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ห้องไอซียูหรือห้องความดันลบ

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ส่วน กทม.มีการติดเชื้อรายใหม่ 830 ราย ถือว่าลดลงจากวันก่อน จากสถานการณ์เคยพุ่งสูงสุดวันที่ 24 เม.ย. ถึง 1,582 ราย ขณะนี้เริ่มชะลอตัวลง แต่ยังไม่ลง จึงอย่าเพิ่งผ่อนคลายมาตรการ ส่วนจังหวัดที่มีตัวเลขอยู่ในระดับใกล้ๆ 100 ราย คือ สมุทรปราการ 161 ราย ชลบุรี 108 ราย และนนทบุรี 71 ราย ส่วนจังหวัดอื่นๆอยู่ในหลักหน่วยและหลักสิบ

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อในระลอกเม.ย. ซึ่งเริ่มต้นมาจากสถานบันเทิง ยังพบการติดได้ในสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อในชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารเนื่องจากไม่ได้ใส่หน้ากาก งานแสดงสินค้า คอนเสิร์ต ประชุม อบรม สัมมนา

ขอให้เข้มงวดใส่แมสก์ อย่าคิดเรื่องถูกปรับ

ดังนั้น สิ่งจำเป็นคือต้องป้องกันตัวเอง 100% ให้มีความเข้มงวดกับเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เพื่อตัวเองไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกปรับ เป็นเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อ เพราะเราไม่ทราบว่าใครจะติดเชื้อไม่มีอาการบ้าง แล้วเราคงไม่อยากเป็นผู้ติดเชื้อจากการไปสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้

ผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มชะลอตัว แต่พบผู้ติดเชื้อแล้วจะเริ่มมีอาการรุนแรง ช่วงนี้แพทย์และพยาบาลก็ต้องทำงานอย่างหนัก และระดมในการที่จะทำงานในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ต้องช่วยกันไม่ให้มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือการติดเชื้อนอกจากปัจจัยเสี่ยง คือ ทำกิจกรรมเสี่ยงหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงโดยไม่มีการป้องกัน แม้แต่การสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัว ที่ทำงาน ที่พักชุมชนก็เจอ ต้องป้องกันตนเอง เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลังสัมผัสจุดสัมผัส และใส่หน้ากาก ภาครัฐจะพยายามบริหารจัดการให้การรักษาพยาบาลให้มีความรวดเร็วและคสวบคุมการระบาด และมิ.ย.ก็จะมีการฉีดวัคซีน” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน