ศบค.เผยไทยติดโควิดใหม่ 2,419 ราย ยอดสะสม 81,274 ราย ขยับอันดับ 99 ของโลก หายป่วยเพิ่ม คาดสถานการณ์เตียงดีขึ้น กทม.กลับมาติดเชื้อพุ่งเกินพันราย

วันที่ 8 พ.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประจำวัน ว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 157.5 ล้านราย เพิ่มขึ้น 8.36 แสนราย เสียชีวิตสะสม 3.28 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.37 หมื่นราย อินเดีย ยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ 401,326 ราย

ส่วนประเทศไทยขยับขึ้นอันดับ 99 ของโลก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,419 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,890 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 519 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,247 ราย เสียชีวิต 19 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 81,274 ราย หายป่วยสะสม 51,419 ราย เสียชีวิตสะสม 382 ราย

สำหรับระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน มีผู้ติดเชื้อสะสม 52,411 ราย หายสะสม 23,993 ราย เสียชีวิตสะสม 288 ราย ยังอยู่ระหว่างรักษา 29,473 ราย มีอาการหนัก ปอดอักเสบ 1,138 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 380 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต 19 ราย มาจาก กทม. 7 ราย สมุทรปราการ ปทุมธานี จังหวัดละ 2 ราย และนครสวรรค์ สมุทรสาคร กาญจนบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา นครปฐม และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 11 ราย อายุน้อยสุด 42 ปี มากสุด 93 ปี จำนวนมากเป็นผู้มีโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยง อันดับ 1 คือการใกล้ชิดสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ติดเชื้อ 9 ราย สัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน 3 ราย

ที่น่าสนใจคือ มี 1 รายไม่ทราบว่าติดเชื้อ จนวันที่พบแพทย์เข้าห้องฉุกเฉิน แพทย์สงสัยติดเชื้อจึงตรวจ และผู้ป่วยเสียชีวิตในวันเดียวกัน มี 5 ราย ระยะทราบผลจนเสียชีวิต อยู่ในระหว่าง 1-6 วัน

“หลายๆ ครั้ง เมื่อมีประวัติสงสัยสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน หรือสัมผัสเสี่ยงสูงก่อนหน้า ขอให้เข้ารับการตรวจโดยเร็วที่สุด หลายครั้งเห็นลักษณะนี้ ไม่แน่ใจตัวเองเจ็บป่วยติดเชื้อแล้วหรือไม่ พอถึง โรงพยาบาลก็มีอาการค่อนข้างรุนแรง และเสียชีวิต” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะนี้กราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ติดเชื้อหายแล้วเริ่มมาบรรจบ เมื่อไรที่ยอดรายใหม่สูงขึ้น การบริหารจัดการเตียงจะมีปัญหา แต่เมื่อยอดติดเชื้อใหม่ลดลง เรายังสามารถบริหารจัดการเตียงให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อใหม่ คือ ตลาด ชุมชน และขนส่ง จะเริ่มมีการรายงานกลุ่มก้อนปัจจัยเสี่ยงเยอะขึ้น

เช่น กทม. 47 ราย ปริมณฑล 19 ราย จังหวัดอื่นๆ 25 ราย เน้นย้ำว่าผู้ป่วยที่พบให้ประวัติเรื่องไปตลาด สถานที่ชุมชน มีผู้คนจำนวนมาก และใช้บริการขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก็พบจำนวนมาก เพราะการติดเชื้อระยะแรกยังไม่แสดงอาการ กลับมาใช้ชีวิตใกล้ชิดบุคคลในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเน้นย้ำ

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ 3 ราย อินโดนีเซีย ปากีสถาน คูเวต อังกฤษ บังกลาเทศ เมียนมา และกัมพูชา ประเทศละ 1 ราย โดยเคสเมียนมาและกัมพูชาเดินทางเข้าประเทศผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำงานหนักตระเวนแนวชายแดนช่องทางธรรมชาติและพบผู้ป่วยจาก 2 ประเทศนี้

ทางปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เน้นจังหวัดชายแดน ขอความร่วมมือนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อสม. ต้องช่วยกันเฝ้าระวังการข้ามแนวชายแดน หรือกรณีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง ขอเน้นย้ำทุกหน่วยราชการ สถานประกอบการโรงงาน สถานประกอบการทั้งหมด หรือการจัดหอพักให้แรงงานพักอาศัย ร่วมกันตรวจสอบค้นหา สร้างความรับรู้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาด้วย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดแรกมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร 1,112 ราย สะสม 18.029 ราย 2.นนทบุรี 217 ราย สะสม 3,249 ราย 3.สมุทรปราการ 114 ราย สะสม 3,016 ราย 4.ประจวบคีรีขันธ์ 100 ราย สะสม 1,267 ราย 5.ปทุมธานี 93 ราย สะสม 1,192 ราย 6.สมุทรสาคร 77 ราย สะสม 1,376 ราย 7.ชลบุรี 72 ราย สะสม 3,200 ราย 8.ปราจีนบุรี 63 ราย สะสม 284 ราย 9.ระนอง 50 ราย สะสม 379 ราย และ 10.สุราษฎร์ธานี 35 ราย สะสม 1,070 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน