กลุ่มร้านอาหารรายย่อย-หาบเร่แผงลอย บุกพบ “อนุทิน” วอนขอฉีดวัคซีนโควิด สธ.พิจารณาให้รวมเป็นเครือข่ายคาดมี 2 แสนคน ชี้เป็นกลุ่มเสี่ยงเหมือนคนขับรถ สัมผัสใกล้ชิดผู้คน เล็งให้ฉีดที่สถานีกลางบางซื่อ
วันที่ 29 มิ.ย.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยและหาบเร่แผงลอย ว่าทั้ง 2 กลุ่มได้เข้ามาหารือขอให้ สธ.จัดสรรวัคซีนโควิด 19 ให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยและหาบเร่แผงลอย เนื่องจากต้องสัมผัสใกล้ชิดประชาชนจำนวนมากในแต่ละวัน แม้จะมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน โดยให้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียวก็ตาม ก็ถือว่าสัมผัสใกล้ชิด แต่กลุ่มเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 หรืออยู่นอกกลุ่มที่จะลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมหรือไทยร่วมใจ
“ผมรับฟังปัญหาและความจำเป็นแล้ว มีนโยบายให้รวบรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเครือข่าย โดยกรมควบคุมโรคจะพิจารณาจัดสรรวัคซีนลักษณะกลุ่มก้อน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับขนส่งสาธารณะ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ เพื่อจะได้ปลอดภัยทั้งผู้ประกอบการและลูกค้า จะมีการประสานและนัดมารับวัคซีนอาจเป็นที่สถานีกลางบางซื่อ คาดว่ามีประมาณ 2 แสนคน ซึ่งกลุ่มนี้แฝงอยู่ในโควตาของ กทม. หรือ ม.33 และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง กรมควบคุมโรคจะไปหารือกับประกันสังคมและ กทม.ว่ามีการฉีดกลุ่มนี้แล้ว ก็จะตัดยอดวัคซีนออกไป ยืนยันว่าไม่กระทบกับการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งจะฉีดให้ครบภายใน 2 เดือนนี้ตามนโยบายของ ศบค.และข้อสั่งการของนายกฯ เพราะถ้ามีกำลังเหลือก็ให้บริการกลุ่มต่างๆได้ทันที เดือนมิ.ย.เรื่องวัคซีนถือว่าเกินเป้าที่ตั้งไว้ ก.ค.ก็มีวัคซีนในมือที่จะฉีดให้ประชาชนได้ตามโปรแกรมที่เราตั้งไว้ ”
เมื่อถามว่า ตอนนี้ กทม.ระบาดมาก ทำให้แยกยากว่าอาชีพไหนเสี่ยงไม่เสี่ยง หากมีการขอเข้ามาฉีดเป้นกลุ่มจะพิจารณาอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้ามาเป็นกลุ่มๆ ก็พยายามจัดสรรให้มากที่สุด ตามจำนวนวัคซีนที่มีแต่ละเดือน แต่เราไม่ปฏิเสธ เพราะทุกคนต้องได้รับวัคซีน ที่สำคัญ คือ ผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ถ้าได้รับการฉีดก็ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ประชาชนกลุ่มไหนๆ เข้ามา เมื่อเข้ามาเป็นกลุ่มได้ก็เข้ามา เรามีสถานีกลางบางซื่อไว้ฉีดเป็นเครือข่ายที่ลงทะเบียนเข้ามาผ่านประธานกลุ่ม เช่น ต้องมีรายชื่อ หน้าที่การงาน ภูมิลำเนา อยู่ภายใต้กลุ่มไหนประเภทไหน เป็น ม.33 หรือไม่ กรมควบคุมโรคจะมาขึ้นทะเบียนและแยกให้ เพื่อบอก กทม.หรือ ม.33 ว่า กลุ่มเหล่านี้เข้ามาฉีดแล้ว เมื่อจัดวัคซีนไปก็จะมีการตัดยอด ส่วนศูนย์ฉีดต่างๆ ก็จะฉีดประชาชนที่ลงทะเบียนเข้ามา
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เดือน ก.ค.นี้คาดว่าจะหาวัคซีนเข้ามาได้ประมาณ 10 ล้านโดส ส่วนผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังจอง หมอพร้อม ก.ค. ประมาณ 4 ล้านคน ดังนั้น วัคซีนถือว่ามีเพียงพอก็จะฉีดกลุ่มนี้ก่อนให้ครบโดยเร็ว และจะนำกลุ่มสุงอายุและ 7 โรคเรื้อรังที่จองเดือน ส.ค.เลื่อนคิวมาฉีดเร็วขึ้นด้วย จากนั้นจะเป็นการฉีดเพื่อควบคุมการระบาด เช่น พื้นที่ กทม.และปริมณฑล หรือกลุ่ม อสม.และบุคลากรที่ทำหน้าที่ป้องกันควบคุมโรคที่ยังตกหล่น เช่น ทหารที่ต้องไปควบคุมแคมป์คนงานที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และฉีดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอื่นๆ เช่น ภูเก็ต เป็นต้น
” ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีการเว้นระยะห่างจากวัคซีนโควิด 19 เร็วขึ้นมาเป็น 2 สัปดาห์แทน 4 สัปดาห์นั้น จริงๆ ตามหลักทฤษฎีก้ให้ฉีดเว้นระยะห่าง 2-4 สัปดาห์ ขึ้นกับความเหมาะสมของพื้นที่และแต่ละคน ซึ่งการขยับมาเป็น 2 สัปดาห์ก็ต้องดูตามเหตุผลของแต่ละพื้นที่ ดูเป็นรายๆ ไม่ได้มีเป้นข้อสั่งการขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ อย่างฉีดวัคซีนแล้วถูกสุนัขบ้ากัด โรคนี้ติดเชื้อตาย 100% รอไม่ได้ก็ต้องฉีดทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาความเสี่ยงกับผลที่จะเกิดขึ้น ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ “