แพทย์ชนบท เผยทางรอด สู้โควิดสายพันธุ์เดลต้า ภายใต้วัคซีนที่จำกัด ฉีดซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าเป็นเข็มที่ 2 คือสูตรที่ดีที่สุดเท่าที่เรามี

วันที่ 11 ก.ค.64 ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ความว่า ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 20 ภายใต้วัคซีนที่จำกัด กับทางรอดจากเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า

ข้อมูลปัจจุบัน สายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) กำลังจะเป็นเชื้อโควิดหลักของประเทศไทยแทนที่สายพันธุ์อัลฟ่า(อังกฤษ) โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครพบว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโควิดเป็นสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มจาก 52% เป็น 80% แล้ว ในขณะที่ต่างจังหวัดสัดส่วนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอีกไม่กี่วันนี้ สายพันธุ์เดลต้าจะเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยแทนสายพันธุ์อังกฤษ

สายพันธุ์เดลต้าที่กลายพันธุ์จากอินเดียนั้นมีความดุร้ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษอย่างชัดเจน กล่าวคือ สายพันธุ์เดลต้าติดเร็วและง่ายกว่าสายพันธุ์แอลฟ่า 40-60% และทำให้เกิดภาวะปอดบวมมากว่าสายพันธุ์แอลฟ่าอีกด้วย ในเดือนกรกฎาคมที่ผู้ป่วยกำลังจะทะลุหลักหมื่นต่อวัน และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร่วมร้อยคนต่อวันก็เพราะเชื้อสายพันธุ์เดลต้านี่เอง

หันมามองวัคซีน ในเดือนกรกฎาคม เราจะมีวัคซีนแอสตร้าฯเพียง 6 ล้านโดส โดยได้จากสยามไบโอไซน์ ที่รัฐไม่กล้าแตะไม่กล้ากดดันต่อรองเลย 4-5 ล้านโดส ได้วัคซีนแอสตร้าบริจาคจากญี่ปุ่นมากู้ชีพอีก 1 ล้านโดส รวมแล้วก็ราว 6 ล้านโดส และเราก็มีซิโนแวคที่ขัดตาทัพจนเป็นวัคซีนหลักไปแล้วอีกราว 5 ล้านโดส รวมแล้ว 11 ล้านโดส ส่วนไฟเซอร์บริจาคจากอเมริกานั้นกว่าจะเข้ามาก็ราวสิ้นเดือนกรกฎาคมหรือต้นสิงหาคม ซึ่งถึงตอนนั้นก็คงระบาดไปไกลแล้ว

ในขณะที่เดลต้าโจมตีอย่างหนักจนยอดผู้ติดเชื้อจะทะลุหมื่นยอดเสียชีวิตทะลุร้อยต่อวัน โดยที่เรามีซิโนแวค 5 ล้านโดสสำหรับคนอายุน้อยกว่า 60ปี ซึ่งป้องกันเชื้อเดลต้าได้น้อย และแอสตร้า 6 ล้านโดส สำหรับคนอายุมากกว่า 60 ปีและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งยังป้องกันเชื้อเดลต้าได้ดี เราควรมีทางออกอย่างไรที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดนี้

อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่หลายท่านได้พยายามทำการศึกษาภายใต้ข้อจำกัดที่เรามีวัคซีนเพียงซิโนแวคและแอสตร้า ความคิดเรื่องการให้ซิโนแวคเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วต่อด้วยแอสตร้าเป็นวัคซีนเข็มที่สองได้เริ่มแจ่มชัดขึ้น ซึ่งการให้วัคซีน 2 ชนิดเช่นนี้มีชุดทฤษฎีกำกับที่ภาษาแพทย์เรียกว่า prime and boost vaccination ทั้งนี้วัคซีนเข็มแรกควรเป็นวัคซีนที่สร้างภูมิแบบทั่วไป ซึ่งก็คือวัคซีนเชื้อตายเช่น ซิโนแวค แล้วฉีดเข็มที่สองด้วยวัคซีนที่สร้างภูมิแบบจำเพาะเจาะจงขึ้น อันได้แก่แอสตร้าหรือไฟเซอร์

ตัวเลขการศึกษาของ อาจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ที่เก็บข้อมูลคนไทยที่ได้วัคซีนชนิดต่างๆพบว่า วัคซีนซิโนแวค2เข็ม จะสร้างภูมิในระดับเฉลี่ย 96.91 U/ml ซึ่งค่อนข้างน้อย ในขณะที่การได้วัคซีนแอสตร้าสองเข็มจะสร้างภูมิได้เฉลี่ย 929U/ml สูงกว่าเกือบ 10 เท่า ส่วนคนที่ฉีดซิโนแวคเข็มแรกและแอสตร้าเป็นเข็ม 2 นั้น เกิดภูมิเฉลี่ย 814U/ml หรือใกล้เคียงกับแอสตร้า 2 เข็มอย่างมาก

การให้ซิโนแวคเข็มแรกแล้วเว้นไป 3-4 สัปดาห์ก็สามารถให้แอสตร้าเป็นเข็มที่ 2 ได้แล้ว ในขณะที่การให้แอสตร้า 2 เข็มนั้นต้องห่างกัน 8-12 สัปดาห์ ดังนั้นสูตรการให้วัคซีนแบบผสม จึงได้เปรียบในเรื่องเวลาที่สั้นกว่าในการเกิดภูมิคุ้มกันระดับสูง

กระแสข่าววงในทราบว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีการหารือเรื่องสูตรการฉีดวัคซีนว่า จะแก้ปัญหาวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไม่ป้องกันเชื้อเดลต้าได้อย่างไร สูตรการฉีดวัคซีน prime and boost vaccination โดยซิโนแวคเข็มแรกและแอสตร้าเป็นเข็มที่ 2 จึงโดดเด่นขึ้นมาทันที

เมื่อไวรัสยังเปลี่ยนกลายพันธุ์ได้ ทำไมเราไม่เปลี่ยนสูตรการฉีดวัคซีนไม่ได้ เพื่อสู้กับไวรัสที่กลายพันธุ์ ในท่ามกลางข้อจำกัดที่รัฐบาลไม่อาจหาแอสตร้าหรือไฟเซอร์มาฉีดแทนซิโนแวคได้ การฉีดซิโนแวคสองเข็มนั้นไม่ไหวแน่แล้ว จะฉีดแอสตร้าสองเข็มก็มีวัคซีนไม่พอฉีด

ดังนั้นการฉีดซิโนแวคเข็มที่ 1 แล้วต่อด้วยแอสตร้าเป็นเข็มที่ 2 ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 60 ปี (แทนการฉีดซิโนแวคสองเข็ม) ควบคู่กับการฉีดแอสตร้า 2 เข็มในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คืออีกสูตรการฉีดวัคซีนที่ดีที่สุดเท่าที่เรามีในปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน