ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา แถลงปมการศึกษาการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เพื่อกระตุ้นภูมิได้รวดเร็วกว่า รอฉีดแอสตร้า 2 เข็ม

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวประเด็นวัคซีนโควิด-19 ว่า วัคซีนโควิด-19 ระยะแรกผลิตจากสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่กว่าจะผลิตเสร็จ ใช้เวลาร่วมปี ทำให้ระหว่างนั้นไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ การใช้วัคซีนช่วงต้น การศึกษาจึงพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูง และระยะหลังประสิทธิภาพต่ำลงเนื่องมาจากการกลายพันธุ์

ศ.นพ.ยง กล่าว่า ไวรัลเวกเตอร์ ถูกใช้ในการปราบอีโบล่ามา 5 ปีแล้ว โดยวัคซีนเชื้อตายจะกระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่าชนิดไวรัลเวกเตอร์ ที่เป็นการฉีดวัคซีนให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ก่อน จึงเป็นการกระตุ้นภูมิต้านทาน ที่เกิดมาจากเซลล์ของคน สร้างโปรตีนแอนติเจนมาเป็นภูมิต้านทาน ภูมิต้านที่ได้รับไวรัลเวกเตอร์จึงสูงกว่าเชื้อตาย

จากกรณีศึกษาพบว่า หลังให้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ภูมิต้านทานที่ได้เท่ากับคนที่หายป่วยจากโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่เมื่อมาติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ทั้งอัลฟ่า เดลต้า ต้องการภูมิต้านทานที่สูงขึ้น ทำให้ประสิทธิของวัคซีนที่ผลิตจากสายพันธุ์อู่ฮั่นทุกตัวลดลง แต่เนื่องจากวัคซีนบางตัวมีระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่า เมื่อลดลงแล้วก็ยังพอที่จะป้องกันได้ ในทางปฏิบัติ

“เหตุผลนี้ทำให้ต้องมาพิจารณาว่า การฉีดแอสตร้า 2 เข็ม ต้องเว้นระยะห่าง เพื่อให้ภูมิขึ้นได้ดี การฉีดแอสตร้า 1 เข็ม ก็ป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ไม่ดี และต้องเว้นห่างอย่างน้อย 6-10 สัปดาห์ จึงต้องหาจุดสมดุล ว่า จะทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเร็วที่สุดอย่างไร”

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เรารู้ว่าใช้ซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงไม่พอที่จะป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์มาเป็นเดลต้าแล้ว ซึ่งแอสตร้าฯ เข็มเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะป้องกันไวรัสเดลต้าเหมือนกัน เพราะกว่าจะฉีดเข็ม2 ช้าเกินไป จึงเป็นที่มาของการศึกษาว่า ถ้าฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน แล้วตามด้วยไวรัลเวกเตอร์ จะเป็นอย่างไร การทำงานคือ เชื้อตายทำให้ร่างกายเหมือนติดเชื้อ จากนั้น 3-4 สัปดาห์ กระตุ้นด้วยไวรัลเวกเตอร์ ที่มีอำนาจในกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิต้านทานมากกว่า ผลปรากฎว่า กระตุ้นได้สูงกว่าที่เราคาดคิดไว้ ภูมิต้านทานสูงขึ้นเร็ว แม้จะสูงไม่เท่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ก็ได้ภูมิต้านทานที่สูงในเวลา 6 สัปดาห์ แทนที่จะรอไปถึง 12 สัปดาห์

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า จากการติดตามคนไข้มากกว่า 40 คนที่ติดตามมา จะเห็นได้ว่า กลุ่มแรก ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงเท่ากับผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้ว น่าจะป้องกันโรคให้ แต่เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ ทำให้ภูมิที่เท่ากันป้องกันไม่ได้ แต่หากฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม วัดภูมิต้านทาน 1 เดือนหลังจากนั้น ภูมิต้านทานจะสูงเพียงพอในการป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ แปลว่าต้องใช้เวลา 14 สัปดาห์ที่ภูมิจะสูงขนาดนั้น แต่หากฉีดวัคซีนเข็ม 1 เป็นซิโนแวค ตามด้วยเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ ภูมิต้านทานใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้า 2 เข็ม แม้ว่าจะน้อยกว่านิดหน่อย โอกาสที่จะป้องกันได้มีมากกว่า และใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น เมื่อเทียบกับการใช้แอสตร้าฯ 2 เข็มที่ใช้เวลา 12 สัปดาห์

“ในสถานการณ์ระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรวดเร็วรุนแรง เรารอเวลาถึง 12 สัปดาห์ไม่ได้ จำเป็นต้องมีภูมิต้านทานที่สูง ขึ้นเร็ว การฉีดสลับชนิดแล้วลดเวลาเหลือ 6 สัปดาห์ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนเพียง 2 ชนิด จึงเป็นการเหมาะสมสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ แต่ในอนาคตหากมีวัคซีนเทคโนโลยีที่ดีกว่า หรือพัฒนาสลับเข็มได้ดีกว่า ค่อยหาวิธีการที่ดีกว่า

หรือถ้าอนาคตถ้าไวรัสกลายพันธุ์มากกว่านี้ อาจจะต้องมีวัคซีนที่จำเพราะเจาะจงกับสายพันธุ์นั้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ที่ต้องมีการฉีดทุกปี จะบรรลุผลสำเร็จในภูมิต้านทานสูงในระยะเวลาอันสั้นกว่า 1 เท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดไวรัลเวกเตอร์ 2 เข็ม ฉะนั้น เวลาเราทุกวันของเรามีค่าในการต่อสู้โรคร้าย ผมขอสนับสนุนข้อมูลวิชาการที่ศึกษามาจะเป็นประโยชน์ในการใช้จริง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน