สธ.ย้ำทุกคนไม่จำเป็นต้องตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท เน้นเฉพาะกลุ่มเสี่ยงทั้งการตรวจเชิงรุกในพื้นที่หรือซื้อมาตรวจเอง หากผลบวกติดต่อ 1330 นำเข้าระบบรักษา ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยดูแลที่บ้านหรือชุมชน

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการจัดหาชุดตรวจโควิดแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit) ว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ให้ใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท เพื่อตรวจคัดกรองกรณีสงสัยโรคโควิด ทั้งนี้ สปสช. ร่วมกับ กทม. และ สธ. ทดลองนำร่องตรวจในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ด้วยชุดตรวจดังกล่าวกว่า 5 หมื่นราย พบผลบวกประมาณ 10 กว่า% เมื่อนำไปเทียบกับการตรวจมาตรฐานด้วยวิธี RT-PCR ความผิดพลาดไม่เกิน 3% ถือว่าชุดตรวจดังกล่าวได้ผลดี

การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งล่าสุด มีมติขยายเพิ่มชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางส่วนเพื่อตรวจเอง โดยอยู่ในขั้นตอนการจัดหา และทีมวิชาการโดยกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนกระจายชุดตรวจให้ประชาชน

“หลังตรวจด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หากผลเป็นบวกจะนำเข้าสู่รักษาที่บ้าน (Home Isolation) และรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) หากอาการเปลี่ยนแปลงแย่ลง ก็จะนำเข้ารักษาใน รพ.ต่อไป ส่วนผลบวกแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะนำเข้ารักษาใน รพ.เช่นกัน” นพ.จเด็จกล่าวและว่า การใช้ชุดตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องตรวจโดย รพ.เท่านั้น ขณะนี้ได้สื่อสารกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 200 กว่าแห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. 69 แห่ง ให้ทยอยตรวจด้วยชุดตรวจนี้มากขึ้น รวมถึงเมื่อวานได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับ รพ.ชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ ให้มีการทยอยตรวจด้วยชุดตรวจด้วย

ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษก สธ. กล่าวว่า พื้นที่ กทม.นั้น สธ.ร่วมกับ สปสช. สนับสนุนให้ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ให้บริการประชาชนในการตรวจโควิด 19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท รวมถึงหน่วยเชิงรุกระดับชุมชนหรือ CCRT ประมาณ 200 ทีมที่ให้ใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท ดูแลประชาชนในพื้นที่ ได้ผลรวดเร็วใน 15 นาที และสอนให้ประชาชนตรวจเองก็พบว่าสามารถเก็บตัวอย่างตรวจเองได้ สำหรับการใช้ตรวจด้วยตัวเองนั้น มีการกระจายชุดตรวจไปยังร้านขายยาต่างๆ ซึ่งย้ำว่าขอให้ซื้อจากร้านขายยาจะได้รับคำแนะนำการใช้จากเภสัชกร อย่าซื้อทางออนไลน์ที่อาจได้รับชุดตรวจไม่มีคุณภาพ

นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า การตรวจด้วยชุดตรวจนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่มีความจำเป็นต้องตรวจ โดยกลุ่มที่ควรตรวจ คือ 1.กลุ่มเสี่ยง เช่น มีญาติ คนใกล้ชิดติดโควิด หรือมีการสัมผัสใกล้ชิดกัน และ 2.อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ จาม น้ำมูก เป็นไข้ เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีหน่วยบริการเข้าไปตรวจเชิงรุกในชุมชนด้วยชุดตรวจดังกล่าว หากผลเป็นบวก ทีมแพทย์จะเข้าไปดูแลประเมินอาการว่า จำเป็นต้องเร่งเข้าสถานพยาบาลหรือไม่

เช่น มีอาการหอบเหนื่อย ไข้และผลเป็นบวก จะประสานนำส่งรพ.เพื่อดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว หากอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการและผลบวก ก็จะช่วยดูแลรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชน ซึ่งได้มีการเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร เครื่องวัดออกซิเจนและวัดไข้สนับสนุนการดูแลรักษาที่บ้านอย่างเพียงพอ สำหรับกลุ่มที่จะเข้ารักษาที่ชุมชนหรือใน รพ.จะมีการตรวจยืนยันซ้ำด้วยวิธีมาตรฐาน RT PCR ส่วนกรณีซื้อมาตรวจเองแล้วผลเป็นบวกขอให้ติดต่อสายด่วน 1330 กด 15 เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา และหากมีอาการรุนแรงขอให้ติดต่อ 1669

นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผลตรวจเป็นลบ ยังต้องปฏิบัติตนเสมือนมีความเสี่ยงตลอดเวลา ป้องกันตนเอง ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนอื่น เพราะอาจจะเพิ่งติดเชื้อ ปริมาณไวรัสยังไม่มากพอที่จะตรวจพบ จึงต้องตรวจซ้ำใน 3-5 วันข้างหน้า และปฏิบัติตามข้อแนะนำในการป้องกันแพร่เชื้อ คือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง แยกวงกินอาหาร ทั้งนี้ ผลตรวจจะแม่นยำถูกต้องมากที่สุดอย่างไร ขึ้นกับ 1.เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ถ้าเสี่ยงแล้วมีอาการไม่ว่าผลเป็นบวกหรือลบจะมีความแม่นยำสูง 2.คุณภาพชุดตรวจ ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะซื้อทางออนไลน์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานอาจได้ผลบวกปลอมได้ 3.การเก็บตัวอย่างและการตรวจต้องถูกต้อง ซึ่งหากทำโดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเชิงรุกปัญหานี้จะลดลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน