สธ.-สปสช.-สพฉ. จัดระบบส่ง ผู้ป่วยโควิด กลับต่างจังหวัด แนะโทร 1330 หรือ เข้าเว็บไซต์ลงทะเบียนกรอกข้อมูล ใช้เวลาประสาน รพ.ปลายทางภายใน 3 วัน

วันที่ 24 ก.ค.2564 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงการจัดบริการรับส่งผู้ป่วยโควิด 19 กลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย

นพ.ธงชัย กล่าวว่า นายกฯ มีความเป็นห่วงผู้ติดเชื้อโควิด 19 ใน กทม.ที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาตัวเอง ให้เดินทางกลับอย่างปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อระหว่างทาง ซึ่งหลายคนไม่มีรถส่วนตัว การกลับโดยรถสาธารณะไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ จึงมอบหมายให้ สธ.ร่วมกับ สปสช. สพฉ. กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงกลาโหม เข้ามาร่วมกันประสานทำระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย

สธ.-สปสช.-สพฉ. จัดระบบส่ง ผู้ป่วยโควิด กลับต่างจังหวัด แนะโทร 1330 หรือ เข้าเว็บไซต์

สธ.-สปสช.-สพฉ. จัดระบบส่ง ผู้ป่วยโควิด กลับต่างจังหวัด แนะโทร 1330 หรือ เข้าเว็บไซต์

“คาดการณ์ว่า กทม. มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน ประชากรจากภูมิภาคอีก 2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีการเดินทางกลับ โดยหลังมีการล็อกดาวน์ข้อมูลของ ศบค.ตั้งแต่วันที่ 19-22 ก.ค. มีผู้เดินทางจาก กทม.ออกไปต่างจังหวัดแล้ว 504,241 คน อาจมีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับไปด้วย ส่วนข้อมูลการส่งผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนาช่วงการระบาดระลอกใหม่ เม.ย.64 มีผู้ติดเชื้อจาก กทม.และปริมณฑลกลับไปแล้ว 31,175 ราย ส่วนใหญ่อาการสีเขียว” นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า การประสานส่งต่อผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ผู้ป่วยสามารถโทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 15 หรือ ผ่านออนไลน์ กรอกประวัติเดินทางกลับไปที่ไหน สปสช. จะส่งข้อมูลมาให้ สธ. ประสานโรงพยาบาลจังหวัดปลายทาง เตรียมพร้อมว่าจะมีผู้ป่วยอาการแบบไหนกลับไปวันไหน และประสาน สพฉ. เตรียมยานพาหนะทั้งรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน มีการดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และสุขภาพระหว่างทาง คาดว่าใช้เวลาประสานไม่เกิน 3 วันสามารถเดินทางได้

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ระหว่างนี้ผู้ติดเชื้อต้องป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อต่อ หากมีอาการรุนแรงขึ้นให้ประสาน 1330 และ 1668 ทั้งนี้ จะมีการประเมินอาการผู้ป่วยที่จะเดินทางกลับว่าเดินทางระยะทางไกลได้หรือไม่ หากไม่ได้เป็นสีแดง ระบบจะติดต่อนำเข้าสู่โรงพยาบาลที่เหมาะสมใน กทม. ส่วนคนที่ไม่มีการติดเชื้อและต้องการออกสู่ภูมิภาค เมื่อเดินทางไปแล้วขอให้รายงานตัวกับทางจังหวัด เนื่องจาก กทม.มีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง คือ 10 เปอร์เซ็นต์

“โครงการนี้มีรัฐมนตรีหลายท่านเป็นเจ้าภาพในการดูแลคนที่ต้องการเดินทางกลับไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ดูแลบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยดูอลเพชรบุรี ราชบุรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ.ดูแลระยอง นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ดูแลปราจีนบุรี เป็นต้น” นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาการสีเขียว จึงต้องเก็บเตียงไว้ให้กลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยสีเขียวจึงมีนวัตกรรมหลายอย่าง ทั้งดูแลรักษาที่บ้าน ศูนย์พักคอย การส่งกลับภูมิลำเนาถือเป็นอีกทางเลือก ผู้ติดเชื้อที่ต้องการกลับภูมิลำเนาติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 15 ซึ่งปัจจุบันมี 1,600 คู่สาย เลขาธิการ สปสช.สั่งเพิ่มเมื่อเช้าอีก 500 คู่สาย

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ประชาชนมีการโทรเข้ามาจำนวนมาก ใครที่ถนัดใช้โซเชียลมีเดีย สามารถติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/ หรือการสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งประสานโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ให้ขึ้นตัววิ่งพร้อมคิวอาร์โคด เมื่อสแกนเข้าระบบให้กรอกข้อมูลชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน จังหวัดปลายทาง และวันที่พร้อมจะเดินทาง โดย สปสช.จะตัดข้อมูลส่งให้ สธ.ทุกวันในช่วงเวลา 08.00 น.

“การกลับเองบางครั้งปลายทางไม่ทราบว่ากลับมาจาก กทม.ทำให้ดูแลไม่ครบวงจร จึงอยากให้ติดต่อเข้ามาในระบบซึ่งมีการจัดทำอย่างเป็นมาตรฐานและปลอดภัย โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สำหรับค่าโทรสายด่วน 1330 ปัจจุบันยังเสียเงิน แต่จะประสาน กสทช.ให้งดค่าบริการโทรสายด่วน 1330 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนด้วย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ช่วงแรกที่ กทม.มีผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก สธ.ร่วมกับ กทม. และหลายภาคจัดหาโรงพยาบาล และ โรงพยาบาลสนาม เพิ่ม มีจุดคัดแยกที่อาคารนิมิบุตร โรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งจำนวนผู้ป่วยพอรับได้ สพฉ.ได้รับมอบหมายให้รับผู้ป่วยจากบ้านไป โรงพยาบาลสนาม หรือ โรงพยาบาล แต่ตอนนี้สถานการณ์ผู้ป่วยมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทันท่วงที

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวต่อว่า สธ.มีนโยบายรักษาที่บ้านและชุมชน ทำให้คนที่อยู่ในกทม.ที่ไม่สามารถเดินทาง ได้รักษาตัวที่บ้านภายใต้การดูแลของ สปสช. คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข มีหมอดูแลที่บ้าน หากต้องการกลับต่างจังหวัด ขณะนี้มีการจัดทำระบบการส่งกลับอย่างปลอดภัยดังกล่าว โดยจะประเมินอาการผู้ติดเชื้อ หากอาการรุนแรงจะไม่แนะนำให้เดินทาง อาจส่งรถฉุกเฉินจาก กทม.ไปรับที่บ้านไปส่ง รพ.สนามที่เหมาะสม

“หากเข้าเกณฑ์ คือ สีเขียว ติดเชื้อไม่มีอาการเดินทางได้ จัดจัดคิวยานพาหนะ โดยร่วมกับกระทรวงคมนาคม จัดเตรียมรถไฟ รถ บขส. และรถตู้ไว้บริการ ประสานกรมการขนส่งทหารบก กรมแพทย์ทหารบก จัดรถขนาดใหญ่หรือเครื่องบิน ซึ่งเครื่องบินและรถไฟเหมาะกับการเดินทางระยะไกล โดยผู้ที่จะกลับโดยเครื่องบินจะมีเงื่อนไขพิเศษ คือ มีสภาพร่างกายที่แข็งแรงหรือ Fio ti Fly ตรวจเอกซเรย์ยืนยันว่าการเดินทางจะไม่เป็นอันตราย” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวด้วยว่า ไม่ว่าจะเดินทางทางบหรืออากาศ จะมีการจัดบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดูแลตลอดการเดินทาง โดยรถบัสรถทัวร์จะมีรถแอมบูแลนซ์วิ่งตามไป รถไฟและเครื่องบินจะจัดบุคลากรทางการแพทย์ติดตามไป เพื่อดูแลหากมีเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะทางบกหากมีเหตุฉุกเฉินจะโทร 1669 จังหวัดนั้นเตรียมพร้อมดูแล

ร.อ.รพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า สพฉ.จะจัดยานพาหนะไว้ 3 ช่วง คือ ช่วงแรกจัดรถรับผู้ป่วยจากบ้านมายังสถานีรถไฟ บขส. หรือเครื่องบิน เนื่องจาก กทม.มีการใช้รถรับส่งผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่อยากส่งรถออกไปไกล ช่วงที่สองคือยานพาหนะที่รับส่งระยะยาว คือ รถบัส รถไฟ เครื่องบิน เป็นต้น และช่วงที่สาม คือ การรับส่งที่จังหวัดปลายทาง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลจะมีการจัดรถมารับ ทั้งนี้ อยากให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องการเดินทางกลับใช้ระบบบริการที่รัฐจัดให้นี้ เพื่องจากมีความปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน