“สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เผยข้อมูลสำคัญ ประเทศที่ใช้ ‘วัคซีนเชื้อตาย’ ป่วยโควิดเสียชีวิต มากกว่าประเทศที่ใช้ mRNA

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก “Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล” โดยเป็นข้อมูลประเทศที่ประชากรได้วัคซีนครบสองเข็มเกิน 20% และใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นหลัก ไม่มีประเทศไหนที่มีอัตราการตายเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง สูงกว่า 1 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน ในขณะที่ประเทศ ชิลี หมู่เกาะซีเชลส์ อุรุกวัย และ มองโกเลีย ที่มีประชากรได้รับวัคซีนครบสองเข็มมากกว่า 50% และใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นหลัก พบว่ามีอัตราการตายสูงกว่าประเทศที่ใช้ mRNA เป็นหลักค่อนข้างมาก โดยมีรายละเอียดทั้งหมดนี้

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง

วัคซีนไฟเซอร์บริจาค 1.5 ล้านโดสจากอเมริกามีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ทุกครั้งที่บุคลากรด่านหน้าหนึ่งคนป่วย นั่นหมายถึงผู้ป่วยนับสิบคนนับร้อยคนที่จะขาดการดูแล

ทำไมต้องฉีด mRNA ให้บุคลากรด่านหน้าก่อน? วันนี้เรารู้แล้วว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรับมือกับโควิด-19 เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ และวันนี้ “ประสิทธิภาพวัคซีน” ก็มีความสำคัญมากกว่าปี 2563 ปีแรกที่โควิด-19 ระบาด เพราะวันนี้เรามีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อแล้ว ทุกประเทศกำลังมุ่งหน้า “เปิดประเทศ” สร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” เพื่อ “อยู่กับโรค” ให้ได้ ไม่ได้คาดหวังแค่วัคซีนที่จะช่วยประคับประคองสถานการณ์เท่านั้น

ประสบการณ์จากทั่วโลกบอกเราว่าอะไร? ผู้เขียนนำข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data สองตัว ณ วันที่ 19 ก.ค. 64 คือ อัตราการตายจากโควิด-19 เฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง มาพล็อตเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว นับเฉพาะประเทศที่อัตราส่วนนี้เกินร้อยละ 20 (ดังนั้นจึงไม่แสดงประเทศที่มีสัดส่วนประชากรฉีดครบน้อยกว่านั้น เช่น ไทย ) โดยจำแนกประเทศต่างๆ ตามลักษณะของวัคซีนที่ใช้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) ใช้วัคซีนเชื้อตาย (เช่น ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม) เป็นหลัก
2) ใช้วัคซีนชนิด mRNA พอๆ กับชนิดอื่น และ
3) ใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นหลัก

นำข้อมูลมาพล็อตเป็นกราฟได้ดังภาพ (เครดิตภาพประกอบ: คุณน้ำใส ศุภวงษ์)

แผนภาพนี้บอกเราอย่างชัดเจนว่า ในบรรดาประเทศที่ประชากรได้วัคซีนครบสองเข็มเกินร้อยละ 20 และใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นหลัก ไม่มีประเทศใดที่มีอัตราการตายเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง สูงกว่า 1 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน ในขณะที่ประเทศ ชิลี หมู่เกาะซีเชลส์ อุรุกวัย และ มองโกเลีย ล้วนมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มสูงกว่าร้อยละ 50 และใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นหลัก แต่มีอัตราการตายสูงกว่าประเทศที่ใช้ mRNA เป็นหลัก ค่อนข้างมาก ผู้ดำเนินนโยบายรัฐที่ทำงานเพื่อประชาชน เมื่อเห็น “ข้อมูลเชิงประจักษ์” เช่นนี้ย่อมต้องรีบจัดหาวัคซีน mRNA มาให้กับบุคลากรด่านหน้าและประชาชนอย่างเร่งด่วน

รัฐบาลทุกประเทศในแผนภาพนี้ที่มีอัตราการตายสูงกว่า 1.5 ในล้านคน ใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นหลัก ได้แก่ คูเวต กัมพูชา มองโกเลีย อุรุกวัย ชิลี และ หมู่เกาะซีเชลส์ ล้วนเริ่มทยอยฉีดวัคซีนชนิด mRNA เช่น ยี่ห้อไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นวัคซีนหลักหรือวัคซีน booster (เข็มสาม) ให้กับประชากรของตัวเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องรออ่านและตีความผลการวิจัยภูมิคุ้มกันใดๆ ทั้งสิ้น

(อนึ่ง แผนภาพนี้ไม่แสดงข้อมูลของประเทศจีน เนื่องจากอัตราส่วนประชากรฉีดครบสองเข็มล่าสุดที่เว็บไซต์ Our World in Data รวบรวมได้ คือร้อยละ 15.5 ณ วันที่ 10 มิถุนายน ไม่พบข้อมูลที่ใหม่กว่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้วัคซีนเชื้อตายเป็นหลัก กำลังจะอนุมัติวัคซีนชนิด mRNA ที่บริษัทจีน ฟูซุ่น ฟาร์มา ร่วมพัฒนากับ ไบออนเทค ของเยอรมนี และประกาศฉีดให้ประชากรทั่วประเทศฟรีเป็นเข็มสามเช่นกัน)

ขอบคุณ : Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน