เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการจ่ายเงินเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ว่า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้สั่งการให้รมว.แรงงาน เร่งรัดขยับเวลาการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนไม่ให้เกินวันที่ 6 ส.ค. โดยจะเริ่มทยอยจ่ายตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.นี้
ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะระบบการโอนผ่านพร้อมเพย์สามารถดำเนินการได้วันละ 1 ล้านบัญชีเท่านั้น โดยผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามีจำนวน 2.87 ล้านคน จะต้องใช้เวลาถึง 3 วันจึงได้สามารถโอนได้ครบภายในกำหนดเวลาวันที่ 6 ส.ค. ตามเจตนารมณ์ของนายกฯ และจะทยอยโอนครั้งต่อไปให้กับนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ทุก ๆ วันศุกร์ จนถึงวันที่ 29 ต.ค.2564
ด้าน นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า วิธีการจ่ายเงินเยียวยาสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 2,500 บาท จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น
ส่วนนายจ้างจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล ตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยนายจ้างบุคคลธรรมดา จะโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน และนายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้าง
“สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 และ มาตรา 40 ในขณะนี้ ยังไม่มีกำหนดการจ่ายเงิน อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบในภายหลัง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง”นางสาวลัดดา กล่าว