ผอ.รพ.บุษราคัม เผย เปิดไอซียูเพิ่มแล้ว 17 เตียง เป็นไอซียูรวม 13 เตียง และห้องแยก 4 เตียง ส่วนเรื่องความสะอาด ยอมรับ ตั้งแต่เปิดยังไม่เคยทำความสะอาดเลย จากนี้จะทำอย่างสม่ำเสมอ

วันที่ 4 ส.ค.2564 นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผอ.รพ.บุษราคัม แถลงผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กระทรวงสาธารณสุข” ว่า รพ.บุษราคัมเปิดบริการมาแล้ว 82 วัน มีผู้ป่วยสะสม 14,213 คน หายกลับบ้านแล้วราว 11,000 คน ยังนอนรักษา 3,333 คน ต้องใช้ออกซิเจนประมาณ 450 คน

” โดยเป็นออกซิเจนไฮโฟลว์ 169 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 2 คน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหายกลับบ้าน 287 ราย รับเข้ามาใหม่ 378 ราย ข้อสังเกตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยใช้เครื่องออกซิเจนลดลงปกติใช้ 750 ราย เมื่อวันที่ 3 ส.ค.เหลือ 450 ราย แต่ยังคงมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์อยู่ประมาณ 160 ราย ต้องใช้ประมาณ 8-10 คนต่อวัน ”

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทุกๆ วันจะมีผู้ป่วยระดับวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่โดยตลอด การส่งต่อไปยังรพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่าต้องรอคอยนาน เพราะไอซียู รพ.ใน กทม. และปริมณฑลก็มีข้อจำกัด ทำให้ รพ.บุษราคัมต้องดูแลผู้ป่วยหนักตลอด ดังนั้นที่ประชุมศูนย์ EOC สธ.จึงอนุมัติให้ตั้งไอซียู รพ.บุษราคัม ซึ่งขณะนี้ตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยใช้พื้นที่บริเวณลานจอดรถด้านหลัง มีทั้งหมด 17 เตียง เป็นโคฮอทไอซียู 13 เตียง และห้องแยกความดันลบ อีก 4 เตียง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายในเป็นโครงสร้างกึ่งถาวรมีอุปกรณ์เทียบเท่ามาตรฐานไอซียู มีทีมแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลไอซียูที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาปฏิบัติหน้าที่

 ผอ.รพ.บุษราคัม

วันนี้จะมีการรับผู้ป่วยอาการหนักภายใน รพ.บุษราคัม มาที่ไอซียูเปิดใหม่ 3-5 คน เพื่อดูแลก่อนและประเมินผล หากเป็นไปด้วยดีจะทยอยรับผู้ป่วยอาการหนักเข้ามาเต็มศักยภาพ 17 เตียง เราไม่ปฏิเสธ รับทุกคน กรณีมีเกณฑ์ต้องห้ามเข้า รพ.บุษราคัม ก็จะมีการประสานให้ได้รับการดูแลในระบบต่อไป ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาได้ทำความสะอาด บริเวณจุดแรกรับผู้ป่วย ซึ่งต้องยอมรับว่าตั้งแต่ให้บริการมายังไม่เคยได้รับการทำความสะอาดเลย จากนี้จะทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่แยกส่วนเป็นพื้นที่ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เพื่อเข้ารับบริการช่องทางด่วน ส่วนห้องน้ำ ห้องส้วมประสานไปยัง รพ.พระนั่งเกล้า จ้างพนักงานทำความสะอาดเพิ่มขึ้น และเพิ่มรอบทำความสะอาด

นอกจากนี้ ได้ปรับระบบการทำงานเพื่อลดภาระงานและลดการสัมผัสผู้ติดเชื้อของพยาบาลที่เข้าปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยเข้ามาที่จุดแรกรับ ถ้าจำเป็นต้องเจาะเลือดก็ให้เจาะที่จุดแรกรับเลย ไม่ต้องย้ายไปเจาะในหอผู้ป่วยและให้รับยาที่จำเป็นเช่น ฟาวิพิราเวียร์ หรือยาอื่นๆ ตั้งแต่จุดแรกรับ ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือการย้ายผู้ป่วยซึ่งเป็นงานหนัก ก็ได้เพิ่มกำลังพลเข้าไปเสริม มีการเพิ่มเตียงลมสำหรับดูแลผู้ป่วยที่ขยับตัวลำบาก เพื่อป้องกันแผลกดทับ และปรับปรุงเตียงที่ชำรุดจากการใช้งานมาระยะเวลาหนึ่งด้วย ” นพ.กิตติศักดิ์ ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน