กรมแพทย์แผนไทย แจงปมดราม่า ถอนงานวิจัย “ฟ้าทะลายโจร” ชี้เป็นความซื่อสัตย์นักวิจัยที่ต้องถอนออกมาแก้ก่อนตีพิมพ์ ไม่ได้ถูกปฏิเสธหรือวารสารส่งกลับ แก้แล้วส่งตีพิมพ์เหมือนเดิม

วันที่ 9 ส.ค.2564 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงกรณีการถอนงานวิจัยฟ้าทะลาย ว่า ช่วงเริ่มต้นการระบาดโรคโควิด 19 ยังไม่มียาตัวใดที่รักษาได้จำเพาะว่ากำจัดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ จึงมีการศึกษายาชนิดต่างๆ เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ เป็นต้น

” กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงศึกษาฟ้าทะลายโจรที่มีคำตอบในห้องปฏิบัติการอยู่แล้ว จึงใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรมาทดลองวิจัยในผู้ป่วยโควิด อาการเล็กน้อย อายุ 18 – 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่คำนวณสำหรับการรักษา 29 ราย และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกไม่มีสารสกัดฟ้าทะลายโจร 28 ราย ผลการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มได้ผลดี ลดการพัฒนาของโรคไม่ให้เดินหน้ารุนแรงขึ้นจนมีปอดอักเสบ

กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร 29 ราย ไม่พบอาการปอดอักเสบทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่ใช้ยาหลอกมีปอดอักเสบ 3 ราย คิดเป็น 10.7% นอกจากนี้ ยังพบว่า การคงอยู่ของตัวไวรัสในวันที่ 5 นั้น กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรพบเจอตัวไวรัส 10 ราย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้สารสกัดฟ้าทะลายโจร พบตัวไวรัสเกินครึ่ง คือ 16 ราย จึงตอกย้ำความเป็นไปได้ของฟ้าทะลายโจรที่มีประสิทธิภาพและไม่พบปัญหาเชิงผลกระทบในส่วนของตับ ไต และระบบเลือด จึงมีความปลอดภัยไว้วางใจได้ ซึ่งข้อมูลตรงนี้สำคัญมากที่เราผลักดันการศึกษาต่อเนื่อง และนำสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการใช้ยาในลำดับถัดไป” พญ.อัมพร กล่าว

ถอดฟ้าทะลายโจร

พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า อีกด้านหนึ่งนักวิจัยต้องขยับตัวงานวิจัยให้เป็นผลงาน เพื่อแบ่งปันเพื่อนนักวิจัยแวดวงอื่นๆด้วย ทีมวิจัยจึงเสนอรายงานเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเสนอระดับนานาชาติ ซึ่งแปลเป็นไทยในชื่อ การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัดในผู้ป่วยโควิดอาการไม่รุนแรง และศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกัน และส่งเอกสารชุดนี้ไปที่วารสารวิชาการเพื่อรอการตีพิมพ์ ซึ่งรายงานวิจัยนี้มีการคิดค่าคำนวณต่างๆ ซึ่งตัวหนึ่งคือ ค่านัยยะสำคัญทางสถิติ ซึ่งมีความคลาดเคลื่อน

โดยตอนแรกค่านัยยะสำคัญทางสถิติอยู่ที่ 0.03 ในแง่มุมประชาชนทั่วไปอาจหมายความว่า หากทดลอง 100 ครั้ง การค้นพบว่ามีผลลัพธ์คงเดิมอยู่ที่ 97 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นมีการเก็บข้อมูลเชิงรายละเอียด และพบข้อผิดพลาดเรื่องตัวเลขดังกล่าว ซึ่งความคลาดเคลื่อนเกิดจากกลุ่มตัวอย่างค่อนข้างน้อยทั้ง 2 กลุ่ม คือ 28 ราย และ 29 ราย เมื่อคำนวณใหม่พบว่าค่านัยยะสำคัญสถิติอยู่ที่ 0.112 หมายถึงคำนวณให้ถูกต้อง 100 ครั้ง ผลลัพธ์เหมือนเดิมอยู่ที่ 90 ครั้ง ความคงที่ลดลงมาระดับหนึ่ง

“แม้จะเป็นจุดเล็กน้อย แต่งานวิจัยตัวเลขเล็กน้อยเป็นเรื่องใหญ่ นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผลลัพธ์ จึงดึงข้อมูลตรงนี้กลับมา มิได้เป็นการถูกปฏิเสธ การถอนงานวิจัยสรุปว่า ทีมนักวิจัยของไทย ชาวกรมการแพทย์แผนไทยฯ ค้นพบความผิดพลาดสถิติ 1 จุด จึงขอดึงงานวิจัยออกมาไม่ได้ถูกปฏิเสธ หรือส่งคืนกลับมาจากวารสาร และผลงานวิจัยเนื้อหาทั้งหมดเป็นไปตามรายงานฉบับแรก เมื่อปรับปรุงตัวเลจให้ถูกต้องแล้ว จะส่งกลับไปตีพิมพ์ ดังนั้น ในการปฏิบัติสารสกัดฟ้าทะลายโจรของไทยยังมีแนวโน้มที่ดีที่จะได้ผลในการป้องกันผู้ติดโควิดไม่ให้เกิดปอดอักเสบ และใช้งานต่อไปได้ เป็นทิศทางนโยบายเหมือนเดิมทั้งการจ่ายยาในระบบการดูแลที่บ้านหรือชุมชน”

พญ. อัมพร ระบุด้วยว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรถือว่าเป็นยา ขอให้ใช้อย่างระมัดระวังภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยควรรับประทาน 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งวันละ 3 ครั้งต่อเนื่อง 5 วัน ส่วนเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไปรับประทาน 3.5-5 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งวันละ 3 ครั้งต่อเนื่อง 5 วัน ข้อห้ามใช้คือผู้ที่มีอาการแพ้ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะอาจกระทบทารกได้ ผู้ป่วยโรคตับและไตอาจทำให้ยาสะสมในร่างกาย เนื่องจากกำจัดยาได้ช้า รวมถึงผู้ที่รับประทานยาตัวอื่น เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน โคพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อลดผลกระทบจากยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน