‘แพทย์ชนบท’ ทำจม.ถึง ‘ประยุทธ์’ ขอให้ตัดสินใจรอบคอบ ซื้อ ATK ยี่ห้อ Lepu ยกงานวิจัยเยอรมันอธิบาย หวังรัฐบาลใช้งานวิชาการ เป็นเครื่องมือตัดสินใจ

วันที่ 27 ส.ค.64 นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชบท ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี อีกฉบับ สิ่งที่แพทย์ชนบทมี (จากการทำงานในโรงพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนที่ขาดแคลนและเต็มไปด้วยความไม่พร้อม) คือ ความมุ่งมั่นจริง ในการยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ และปกป้องภาษีประชาชน

เรื่อง ขอให้พิจารณาเอกสารวิชาการเพื่อประกอบการตัดสินที่รอบคอบในการอนุมัติชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ความไม่มั่นใจของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนต่อคุณภาพของชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ Lepu ที่ผ่านการประมูลจากองค์การเภสัชกรรมและกำลังจะมีการลงนามในสัญญาการจัดซื้อนั้น มีอย่างกว้างขวาง และกำลังกัดกร่อนความเชื่อมั่นที่มีต่อกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล ซึ่งควรได้รับการใส่ใจแก้ไขอย่างจริงจัง

นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สะท้อนความเห็นผ่านเฟสบุ๊คของท่านไว้ชัดเจน จากงานวิจัย เรื่อง “Rapid comparation evaluation of SARS-CoV-2 rapid point-of-care antigen tests” ศึกษา

โดย Anna Dennzler และคณะ ได้รับการสนับสนุนทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ของประเทศเยอรมัน ซึ่งได้ส่งเผยแพร่ใน website ของ “ medRxiv : The preprint server for health sciences” เพื่อรอขั้นตอน peer review ก่อนการตีพิมพ์ ไว้ดังนี้

“เป็นห่วง ATK ยี่ห้อ Lepu Medical ที่รัฐ จะจัดซื้อมาแจกจ่ายประชาชน การศึกษาในเยอรมันนี้ เป็นการเปรียบเทียบ ความแม่นยำในการตรวจ ของ ATK 32 ยี่ห้อ ที่มีอยู่ในเยอรมัน โดยใช้ตัวอย่างจาก pooled nasopharyngeal swab เดียวกัน

ในการ test ทั้ง 32 ยี่ห้อ พบว่า Lepu มีความไวในการตรวจพบเชื้อ น้อยกว่า อีก 31 ยี่ห้อ แม้กรณีตัวอย่างที่มีเชื้อมาก CT 16 ยัง detect ได้ไม่ดีเท่าไหร่ ต้องเชื้อมากระดับ CT 13 จึงตรวจวัดได้

เขาจึงสรุป ว่า “this product does not seem completely non-functional, but rather largely insensitive.” “ชุดตรวจสอบนี้ ไม่ได้ห่วยอย่างสิ้นเชิง แต่มีความไวต่ำมาก” นั่นคือใช้ test นี้ โอกาสเกิดผลลบลวง ( false negative ) สูง รัฐบาล

เห็นแบบนี้แล้ว เปลี่ยนใจยังทันไหมครับ Disclaimer : paper นี้ เป็น preprint ยังไม่ได้ผ่าน peer review” ทั้งนี้สามารถ download เอกสารวิจัยฉบับเต็มได้จาก https://www.medrxiv.org/…/2021.07.29.21261314v1.full.pdf

โดยสรุป สาระของงานวิจัยที่สำคัญของงานวิจัยที่สำคัญคือ “การทดสอบATK 32 ยี่ห้อที่ขายในเยอรมัน จากการวิจัยที่ใช้สารละลายที่มีเชื้อโควิดที่ทราบจำนวนเชื้อที่อยู่ในหลอดเดียวกัน หยดลงไปชุดตรวจ 32 ยี่ห้อ พบว่า ชุดตรวจ Lepu มีความไวน้อยที่สุดใน 32 ยี่ห้อ แม้สารละลายที่มีเชื้อเข้มข้นมากถึง ค่า CT ที 16 ซึ่งยี่ห้ออื่นตรวจพบเชื้อ แต่ของ Lepu กลับรายงานเป็นผลลบ แสดงว่ามีความไวต่ำ”

การที่ผู้มีเชื้อโควิดซึ่งควรตรวจได้ผลว่า positive แต่ตัวชุดตรวจกลับตรวจไม่พบและแสดงผลว่า negative ย่อมส่งผลเสียกว้างขวาง เพราะทั้งแพทย์และผู้ป่วยต่างก็จะเข้าใจว่าเขาไม่พบเชื้อ แต่แท้จริงเขามีเชื้อ ทำให้เขาได้รับการรักษาที่ช้าลง และเกิดการแพร่กระจายโรคที่กว้างขวางขึ้น เพราะไม่ได้รับการกักตัวอย่างเข้มงวด

ผลิตภัณฑ์ ATK ยี่ห้อ LEPU ที่ประมูลได้ในราคาต่ำสุดนี้ ไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายทั้งในโรงพยาบาลและการใช้ตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงไม่ว่าจะตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือให้ตรวจตนเองก็ตาม เพราะมีความแม่นยำต่ำ มีผลลบลวงมากเกินกว่าที่จะยอมรับได้ ดังที่ปรากฏในรายงานจากงานวิจัยจากเยอรมัน และปากีสถาน

สำหรับขั้นตอนการจักซื้อจัด ATK 8.5 ล้านชิ้นในครั้งนี้ ยังอยูในขั้นตอนที่กรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี ต้องพิจารณาความเหมาะสมของคุณลักษณะ (สเป็ก) ให้สอดคล้องกับราคาและการใช้งาน และทราบว่าจะมีการลงนามในสัญญาในวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564

ชมรมแพทย์ชนบท หวังจะเห็นรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จะใช้งานวิชาการเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ อย่าให้เกิดความเสียหายตามมาทั้งจากความไม่คุ้มค่าของภาษี การไม่ยอมรับผลของบุคลากรการแพทย์ ความสิ้นเปลืองงบประมาณในการตรวจใหม่ รวมถึงการฟ้องร้องจากการที่ผล ATK ไม่ตรงกับความเป็นจริง อันจะนำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวงต่อการควบคุมโรคและระบบสาธารณสุขของไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน