โควิด : กลุ่มโอรังอัสรี หรือชนเผ่าซาไก ออกจากป่าดงดิบ ฮาลา-บาลา หอบลูกหลาน ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีน โควิด เพื่อร่วมเปิดเมืองเบตง

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 ที่โรงเรียนบ้านใหม่ ม.3 บ้าน กม. 36 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายวรวิทย์ อัครโรทัย สาธารณสุขอ.เบตง นางมุกดา ยังอภัย ณ สงขลา นายกกิ่งกาชาดอ.เบตง และนายอารี หนูชูสุข ปลัด อบต.อัยเยอร์เวง นำเจ้าหน้าที่รพ.เบตง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอ.เบตง และเจ้าหน้าที่อบต.อัยเยอร์เวง

ออกหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุก พร้อมประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนในพื้นที่มาฉีดวัคซีน เดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่ทั้ง 11 หมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้ได้หมู่บ้านละ 70% ซึ่งได้กำหนดเป้าหมาย ในวันนี้ จำนวน 600 คน

ทั้งนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้เร็วที่สุด หลังจากนั้นจะได้เร่งเปิดเมืองกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ หลังสถานการณ์ โควิด-19 อ.เบตง ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ทำให้ อบต.อัยเยอร์เวง ได้มีการประชาสัมพันธ์มาตรการเชิงรุกในทุกหมู่บ้านให้มีการฉีดวัคซีนตามเป้าที่ตั้งไว้ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ให้มาทำการฉีดวัคซีน

ขณะที่กลุ่มโอรังอัสรี หรือกลุ่มลาซะ หรือชนเผ่าซาไก ที่อาศัยอยู่ในป่าดงดิบฮาลา-บาลา ม.9 บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง ที่มีสมาชิกร่วมกันทั้งหมดกว่า 50 คน กลัวคนเมืองจะนำเชื้อ โควิด-19 มาแพร่กระจายสู่กลุ่มกลุ่มลาซะ จึงได้หอบลูกหลานมาฉีดวัคซีน เพราะที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมักจะเดินทางเข้าไปชมที่อาศัยอยู่ในป่าเป็นประจำ

นายเอก ยังอภัย ณสงขลา นายอำเภอเบตง กล่าวว่า กลุ่มโอรังอัสรี หรือกลุ่มลาซะ เป็นชุมชนที่มีสมาชิกจำนวน 50 คน 6 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างถางป่า ถางสวน ตัดหญ้า กรีดยาง ซึ่งบางคนสามารถพูดภาษามาลายูได้คล่องแคล่ว และสามารถพูดภาษาไทยกลางได้ในระดับที่สื่อสารกันได้

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรังอัสลี) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการขับเคลื่อน และบริหารจัดการในรูปแบบของนิคมสร้างตนเอง สนับสนุนด้วยการจัดสรรที่ดินชั่วคราว ให้สามารถมีพื้นที่ทำกิน เลี้ยงดูตนเองและประชากรในกลุ่มได้ สนับสนุนให้เข้าถึงการบริการของรัฐด้านต่าง ๆ ด้วยการออกบัตรรับรองสถานะเพื่อยืนยันตัวตนชั่วคราว

ซึ่งมีจำเป็นอย่างยิ่ง ที่กลุ่มเหล่านี้ควรจะได้รับการดูแลสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เพื่อการดำรงชีวิต เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่ให้ตรงตามความเหมาะสมของกลุ่ม การเข้าถึงวัคซีนที่จำเป็นแก่เด็ก รวมถึงการบริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น ซี่งในวันนี้กลุ่มชาติพันธุ์มานิ จำนวน 10 คนได้ทยอยออกมารับการฉีดวัคซีนก่อน ส่วนคนที่เหลือก็จะตามมาฉีดจนครบทั้งเผ่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน