คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึงผลการวิจัยจากการฉีดวัคซีนแบบไขว้ชนิด ร่นระยะเวลาการรอวัคซีนเข็ม 2 ชี้ จำเป็นต้องสู้เชื้อให้ทันเวลา

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงกรณีการกล่าวถึงสูตรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยการฉีดแบบไขว้ชนิดวัคซีน ว่า ผลการวิจัยการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ด้วยซิโนแวค เข็ม 1 แล้วตามด้วยแอสตร้าฯ พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ลดระยะเวลาลง จากที่ต้องฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ แล้วรอภูมิขึ้นจนถึงระดับที่ป้องกันโรคได้อีก 2 สัปดาห์รวมเป็น 14 สัปดาห์ ในขณะที่สูตรไขว้ ทำให้ฉีดเข็ม 2 ได้ในสัปดาห์ที่ 3 ภูมิเริ่มขึ้นจนป้องกันได้ในสัปดาห์ที่ 5 ซึ่งจุดต่างที่ 5 กับ 14 สัปดาห์ สำคัญมากในเวลาที่เจอเชื้อแพร่กระจายเยอะและเร็ว ถือว่าต้องแข่งกับเวลา

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการที่บอกว่าฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เพียงเข็มแรก ก็สามารถป้องกันโรคได้ นั่นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับสายพันธุ์อัลฟ่า แต่กับเดลต้าไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ซึ่งงานวิจัยต่างประเทศก็ออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะว่า เข็มเดียวไม่เพียงพอต้องฉีด 2 เข็ม ที่สำคัญคือเมื่อเวลาผ่านไปภูมิฯ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนจะลดลง หากไม่กระตุ้นให้ทันก่อนที่จะลดต่ำมาถึงจุดที่ไม่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ก็จะเกิดอันตรายได้

นพ.ประสิทธิ กล่าวว่า ขณะนี้ เรามีข้อมูลผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มแรก ยังไม่ได้รับเข็มที่ 2 แต่เกิดการติดเชื้อจนเสียชีวิต ดังนั้น ระบบการจัดการบริหารวัคซีนที่ดี คือ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สูง ให้เร็ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะติดเชื้อเมื่อไหร่ จึงเป็นเหตุผลหลักที่เรานำสูตรไขว้มาใช้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน