สธ.แจงเปิดรับท่องเที่ยวต่างชาติ 1 พ.ย. มีมาตรการรองรับ 17 จว.นำร่องท่องเที่ยวฉีดวัคซีนโควิดยังต่ำ เตรียมระดมฉีดแล้ว คาดคนสนใจแห่ฉีดเพิ่ม

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.64 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเปิดประเทศซึ่งนายกรัฐมนตรีแถลงไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการพูดถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ซึ่งนิยมมาประเทศไทยช่วงปลายปี เราจึงเปิดการท่องเที่ยวโดยมีมาตรการต่างๆ รองรับ ทั้งการกำหนดประเทศที่จะเดินทางมาต้องอยู่ในกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ มีหลักฐานการฉีดวัคซีน มาตรการในพื้นที่ที่ต้องมีฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง

ซึ่งพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวขณะนี้ภาพรวมฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 70% สูงสุด คือ กทม. 102.8% เกินฐานทะเบียนประชากร ส่วนหนึ่งเพราะมีประชาชนในกทม.และปริมณฑลมาฉีดในจุดฉีด กทม., ภูเก็ต 80% สมุทรปราการ 68.8% ส่วนหลายจังหวัดฉีดต่ำกว่า 50% เช่น อุดรธานี 38% หนองคาย 38% เลย 37% แต่ไม่ต้องห่วงกังวล เพราะเตรียมความพร้อมจัดสรรวัคซีน ขอประชาชนพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวติดตามข้อมูลข่าวสารในจังหวัด ติดต่อเรื่องการขึ่้นทะเบียน หรือจองนัดเข้าฉีดวัคซีน เปอร์เซ็นต์จะได้สูงขึ้นรวดเร็วและพร้อมเปิดรับผู้เดินทางท่องเที่ยวเข้ามา

“ไม่ใช่แค่พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวที่ภาพรวมให้ฉีดได้สูง แต่กลุ่ม 608 ที่เสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิต อยากให้ฉีดถึง 80% เช่นกัน ซึ่งภาพรวมอยู่ที่ 72% แต่บางพื้นที่ก็อยู่ที่ 50% ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากประกาศนโยบายวันเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ประชาชนคงสนใจมาร่วมฉีดวัคซีนกันเยอะ ซึ่งสามารถเร่งรัดการฉีดให้ไปถึงตามเป้าหมายได้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 17 จังหวัด มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิดเรียงจากมากไปน้อย ดังนี้ กทม. 102.8%, ภูเก็ต 80.1%, ชลบุรี 71.7%, สมุทรปราการ 68.8%, พังงา 57.5%, ระนอง 56.1%, เพชรบุรี 54%, ระยอง 51.7%, ประจวบคีรีขันธ์ 49.3%, บุรีรัมย์ 49.1%, ตราด 45.6%, เชียงใหม่ 45.3%, สุราษฎร์ธานี 43%, กระบี่ 41.9%, หนองคาย 38.8%, อุดรธานี 38.1% และเลย 37.3%

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประชาชนทั่วไปฉีด 1.5 ล้านคน จากฐานประชากร 3.5 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 42.4 ส่วนกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป 260,739 คนคิดเป็น ร้อยละ 58 กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว 143,784 คนคิดเป็น ร้อยละ 51.2 โดยจะลดหลั่นตามพื้นที่ โดยช่วงนี้ได้รับวัคซีนเพิ่มจำนวนมาก

ทาง นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 ก็รับนโยบายจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ระบบเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวางรวดเร็วให้ได้เป้าหมาย ร้อยละ 70 ของประชากร คาดว่าจะทำได้ปลายเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ภาคใต้ตอนล่างที่มีระบาดสายพันธุ์เบต้า แอลฟา และเดลต้า จึงมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเราก็ได้จัดส่งไปแล้ว

นอกจากนี้ สูตรฉีดไขว้แอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์ รอผ่านมติศบค.ซึ่งจะประกาศเป็นทางการ ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามหลักวิชาการ ความเหมาะสมในการบริหารจัดการให้เกิดภูมิคุ้มกัน และให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาจะกำหนดเป็นสูตรหลักสูตรหนึ่ง และสูตรที่สามารถใช้ได้กรณีมีความจำเป็น เนื่องจากประด็นทางสุขภาพ และเงื่อนไขทางปฏิบัติเช่นประเทศที่จะเดินทาง ก็อาจจะขยายได้

กรณีพื้นที่ภาคใต้ซึ่งจัดส่งไฟเซอร์ลงไป ก็จะใช้ฉีดเป็นไฟเซอร์ 2 เข็ม เพื่อรองรับสายพันธุ์ที่ระบาดด้วย หากเป็นแอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์ทางวิชาการก็ทำได้ ในทางปฏิบัติคงมีชี้แจงลงไปในพื้นที่ อย่างไรก็ตามขอให้มั่นใจในทุกสูตรที่สามารถใช้ได้ เพราะไม่ควรรอ เพราะสถานการณ์บางที การรออาจจะเกิดสานพันธุ์ที่แตกต่างจนมีความรุนแรง และอาจจะเสียประโยชน์ได้

การฉีดนักเรียนที่ผ่านมมา ในระบบที่รายงานเข้ามายังไม่มีอะไรน่ากังวล ระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์จะต้องตรวจสอบเก็บข้อมูลในพื้นที่ บางทีไม่ได้เร็ววันต่อวัน ทยอยมา เท่าที่ฉีดมายังไม่มีข้อกังวล ส่วนเข็ม 2 ในกลุ่มนักเรียนชายนั้น คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนจะประชุมน่าจะจะมีข้อตัดสินวันที่ 20 ต.ค.นี้ โดยจะพิจารณาข้อมูลที่รวบรวบการฉีดเข็ม 1 ในเด็กชาย เป็นข้อสงสัยสอบถามมา อย่างไรข้อสรุปต้องออกมาก่อนวันนัดฉีดเข็ม 2 แน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน