สธ.เผย 6 ปัจจัยหลักทำติดเชื้อในงานศพ ย้ำหากไม่สบายให้บอกเจ้าภาพว่าป่วย ขอไม่ไปร่วม ส่วนเล่นน้ำท่วมติดเชื้อ 109 รายที่โคราช เพราะอยู่รวมกลุ่ม พูดคุยสัมผัสสารคัดหลั่ง ตัวน้ำท่วมไม่ได้เป็นประเด็นนำเชื้อ

วันที่ 25 ต.ค.2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อในคลัสเตอร์งานศพ ว่า กองระบาดวิทยา รวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 19 ต.ค. 2564 พบติดเชื้อที่มีประวัติชัดเจน 747 ราย

ได้แก่ ขอนแก่น 4 คลัสเตอร์ จบแล้ว 1 คลัสเตอร์ , ชัยภูมิ 3 คลัสเตอร์ , นครศรีธรรมราช 3 คลัสเตอร์ , อุดรธานี 3 คลัสเตอร์ และจันทบุรี 2 คลัสเตอร์ จำนวนติดเชื้อกระจายหลายจังหวัด เช่น จันทบุรี 153 ราย อุบลราชธานี 119 ราย ปราจีนบุรี 79 ราย อุดรธานี 72 ราย สระแก้ว 39 ราย เป็นต้น

กิจกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อในงานศพ ได้แก่ 1.การรับประทานอาหารร่วมกัน 2.บางพื้นที่ดื่มสุรา วนแก้วหลายคน 3.สวมหน้ากากอนามัยผิดวิธีหรือไม่สวม 4.เล่นพนัน 5.ผู้มาร่วมงานพักค้างแรมกับบ้านเจ้าภาพ และ 6.ไม่ได้คัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยเข้าร่วมงาน

“ต้องขอความร่วมมือ หากต้องไปร่วมงานต้องไม่มีอาการป่วยเดินหายใจ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ควรจะแจ้งเจ้าภาพว่า ไม่สบาย ขอไม่ไป เพราะโควิดอาจมีอาการน้อยมากๆ ต้องช่วยกันดูแลความหนาแน่น เว้นระยะห่าง และเมื่อไปอยู่รวมกันนานๆ อาจจะอึดอัด ถอดหน้ากากก็เป็นความเสี่ยง ยิ่งดื่มสุราก็ทำให้มีการใกล้ชิด ยิ่งหย่อนการระวังตัว หากจัดอาหารให้กลับบ้านไปได้จะดีที่สุด” นพ.เฉวตสรรกล่าว

เมื่อถามถึง การติดเชื้อจากการเล่นน้ำท่วมจากเดิมพบ 52 รายก็เพิ่มถึง 109 ราย จ.นครราชสีมา นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การเล่นน้ำในช่วงน้ำหลากหรือมีอุทกภัย ต้องระมัดระวังทั้งการพลัดตก จมน้ำ แม้ระดับน้ำไม่ลึก แต่น้ำไหลแรงก็อันตรายถึงชีวิตได้ กรณีที่พบคลัสเตอร์เกิดจากการอยู่ใกล้กัน อยู่ร่วมกิจกรรมด้วยกัน พูดกันให้เกิดการสัมผัสสารคัดหลั่งน้ำลาย

หรือที่ฟุ้งกระจายกับน้ำและนำมาสัมผัสใบหน้า แต่ปริมาณน้ำมากไม่ใช่ประเด็นของการนำเชื้อ จุดสำคัญคือ การรวมตัวกัน ซึ่งเกิดเป็นความเสี่ยง นอกจากเล่นน้ำแล้ว บางครั้งคนรู้จักกันใกล้ชิดกัน กลับไปอยู่ในบ้าน ครอบครัวกัน ก็จะเกิดการแพร่โรคได้ ขอย้ำว่า โควิดอาจมาในลักษณะอาการน้อย แต่สามารถแพร่ได้ จึงขอให้ระวัง อย่าให้เป็นปัญหาสุขภาพที่ทับซ้อนในภาวะที่เกิดอุทกภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน