กรมอนามัยเผย 3 ปัจจัยเสี่ยง “ดื่มเหล้า” ในร้านอาหารเพิ่มเสี่ยงโควิดระบาด สำรวจพบเกือบ 60%ไม่เห็นด้วยการดื่มในร้าน และ 56.6% ยังไม่เชื่อมั่นในมาตรการ แนะ 7 พฤติกรรมนักดื่มไม่ควรทำ สุ่มตรวจ 25 ร้านใน กทม. พบ 3 ร้านไม่ทำตามมาตรการ ปรับแล้วร้านละ 6 พันบาท ผิดอีกปรับสูงสุด 2 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวเปิดเมืองปลอดภัยคุมเข้มกินดื่มในร้านอาหารด้วยมาตรการ COVID Free Setting ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการประกาศ 17 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) สามารถดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ขณะนี้เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว กรมอนามัยรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ และและข้อสังเกตประเด็น COVID Free Setting ในร้านอาหารที่อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ คือ การติดเชื้อโควิดในร้านอาหารที่เปิดให้ดื่มแอลกอฮอล์ จะเพิ่มมีโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อในสถานประกอบการ เนื่องจากปัจจัยสำคัญคือ 1. มีการรวมกลุ่มมากว่า 1 คน อาจมีคนติดเชื้อไม่แสดงอาการมาร่วมในสถานที่ 2.Long Stay อยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ถ้ามากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น และ 3.Behavior พฤติกรรมพูดคุยสังสรรค์กินดื่มร่วมกัน

“สุราเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เนื่องจากทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอหอยมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง เพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อโรคโควิดลงปอดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวอ่อนแอ เมื่อเชื้อเข้าร่างกาย จึงติดเชื้อได้ง่าย และสุราทำให้ความยับยั้งชั่งใจน้อยลง อาจมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น กินดื่มวงเดียวกัน ไม่สวมหน้ากาก ไม่รักษาระยะห่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโควิด ทั้งที่มาจากตัวแอลกอฮอล์เอง และปัจจัยพฤติกรรมป้องกันตนเองส่วนบุคคลที่อาจลดลงไป” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับผลสำรวจอนามัยโพล กรณีความเห็นประชาชนต่อการปรับมาตรการให้ดื่มครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้ายนอาหารตั้งแต่วันที่ 1-14 พ.ย. 2564 มีผู้ตอบแบบสำรวจ 2,823 ราย เกือบ 60% ยังไม่เห็นด้วยเรื่องการดื่ม เนื่องจากกังวลเกิดคลัสเตอร์ใหม่ 90% ยังไม่มั่นใจมาตรการป้องกัน และเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงถึง 50% ส่วนเห็นด้วยกับการเปิดมี 43.2% เพราะเห็นว่า กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้พนักงานและร้านอาหาร

จากการสอบถามพบว่า 8.3% เคยไปใช้บริการร้านอาหารที่อนุญาตให้ดื่มแอลกออฮอล์ได้ มาตรการที่ทำได้ดี คือ จัดอุปกรณ์สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แยกแต่ละบุคคลมากกว่า 60% คัดกรองความเสี่ยงพนักงานและลูกค้าก่อนเข้ารับบริการ และมีการระบายอากาศที่ดี ทำได้มากกว่า 50% แต่มาตรการทำได้ต่ำกว่า 50% คือ งดกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด การเว้นระยะห่าง ไม่รวมกลุ่มกันของพนักงาน การสังเกตป้ายสัญลักษณ์ Thai Stop COVID Plus , COVID Free Setting และ SHA Plus

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการป้องกันโควิด 19 ของร้านอาหารที่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน พบว่า ไม่เชื่อมั่น 56.6% เชื่อมั่น 43.4% นำมาสู่ข้อคำถามถึงมาตรการของร้านอาหารที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้น จากผลสำรวจพบว่า ประชาชนจะมั่นใจว่าปลอดภัยในการใช้บริการร้านอาหรรที่เปิดให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน คือ เมื่อร้านผ่านมาตรฐานรับรองของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยแสดงป้ายให้เห็นชัด พนักงานและลูกค้ารับวัคซีนตามเกณฑ์ สุ่มตรวจคัดกรองเชื้อเป็นลบก่อนเข้ารับบริการ และสุ่มตรวจเป็นระยะโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งบางคนแสดงข้อคิดเห็นว่าควรจำกัดเวลาในการดื่มด้วย

“ประชาชนส่วนหนึ่งยังคงไม่มั่นใจมาตรการให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ซึ่งมาตรการส่วนบุคคล ฉีดวัคซีน ตรวจหาเชื้อ ATK ปฏิบัติตาม COVID Free Setting และ SHA Plus เป็นประเด็นสำคัญทำให้ประชาชนมั่นใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยังพบ 3 กิจกรรมเสี่ยงที่เห็นบ่อยตามสื่อ คือ 1.มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย และกิจกรรมคล้ายสถานบันเทิง สถานบริการ ซึ่งยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการ 2.มีกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ มีการรวมกลุ่มเกินกว่ากฎหมายกำหนด และ 3.มีกิจกรรมเต้นรำ ตะโกนเสียงดังทั้งพนักงานและผู้รับบริการ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า การเปิดเมืองเปิดประเทศต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่าย โดย 4 สิ่งที่ทำให้เปิดประเทศปลอดภัย คือ 1.ฉีดวัคซีนครอบคลุมมากที่สุด 2.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดวเลา เคร่งครัดทุกสถานที่ทุกโอกาส 3.ผู้ประกอบการ ผู้จัดกิจกรรมต่างๆ เข้มงวด เคร่งครัดปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และ 4.ประชาชนประเมินตนเองว่าเสี่ยง ขอให้หาชุดตรวจ ATK มาตรวจ เพื่อหากพบเชื้อจะได้ทำการแยกกักตัว นำไปสู่การดูแลแต่เนิ่นๆ ตัดวงจรการแพร่ระบาด

ด้าน นพ.เกษม เวชสุทธานนท์ ผอ.สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กล่าวว่า จากกนโยบายเปิดบ้านเปิดเมือง สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการสร้างความมั่นใจ 3 มาตรการ คือ 1.การประเมินตนเองของสถานประกอบการ ร้านค้า 2.ประชาชนส่งข้อร้องเรียนและข้อแนะนำผ่านสื่อต่างๆ ได้ และ 3.จัดตั้งคณะทำงานบูรณาการทั้ง สธ.และท้องถิ่นลงไปตรวจประเมิน ทั้งนี้ พื้นที่ท่องเที่ยวทั้งจังหวัด 4 จังหวัด อย่าง กทม.ได้ประกอบทีมลงไปตรวจประเมินสถานประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายสุรา เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ใน 3 เขต จำนวน 25 ร้าน พบว่า ร้านค้าให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการได้ดี มีประเด็นเรื่องจำกัดเวลาการบริโภค แนะนำให้กินดื่มไม่เกิน 2 ชั่วโมง ไม่มีกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่ม และกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน จัดอุปกรณ์บริโภคเครื่องดื่มส่วนบุคคล ไม่ปะปนกัน

“มาตรการทำได้น้อยและต้องปรับปรุง คือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล บางที่เมื่อมีการจำหน่ายและเปิดบริการ มีลูกค้าจำนวนมาก ร้านค้าอาจไม่เข้มงวด รวมทั้งการจัดพื้นที่ไม่แออัดยังจัดการไม่ได้ และการจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์อาจทำไม่ได้ทุกโต๊ะ พนักงานประเมินความเสี่ยงผ่านไทยเซฟไทยไม่ครบ 100% ต้องเน้นย้ำ กำกับมาตรการส่วนบุคคล ควบคุมพฤติดรรม ยังปฏิบัติได้น้อย” นพ.เกษมกล่าว

นพ.เกษม กล่าวว่า ผลการสุ่มประเมินมีร้านค้าที่เปิดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ปฏิบัติตาม 3 ร้านจาก 25 ร้าน โดยผู้มาใช้บริการดื่มใกล้ชิด เต้นรำ ตะโกน ร้องเพลงร่วมกับทางนักดนตรี ซึ่งมีการปรับเพราะผิดตามมาตรา 51 ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท โดยความผิดครั้งแรกจึงปรับไป 6 พันบาท ทั้ง 3 ร้าน และกำชับถ้ามีความผิดอีก จะปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ส่วนอีก 3 จังหวัด คือ กระบี่ พังงา และภูเก็ต มีการสำรวจร้านค้าประเมิน ร่วมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น 3 จังหวัดรวม 604 แห่ง สุ่มตรวจประเมิน 105 แห่ง คิดเป็น 17.5% พบว่า ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมาตรฐาน SHA Plus แต่ยังเป็นช่วงต้นของการเปิด คนมารับบริการยังไม่มากมาย และยังไม่มีนักท่องเที่ยวนอกประเทศจำนวนมาก จึงยังปฏิบัติได้ดี ตามเกณฑ์ต่างๆ

สำหรับพฤติกรรมที่ไม่สมควรทำนักดื่ม เพราะพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดการระบาด คือ 1.ไม่ดื่มร่วมแก้วร่วมจาน 2.ไม่พูดคุยใกล้ชิดกับคนไม่รู้จัก เลี่ยงการสัมผัส เลี่ยงการพบปะสังสรรค์ข้ามกลุ่ม กลุ่มใครกลุ่มมัน 3.ไม่ดื่มจนเมามาย ขอผู้มารับบริการและเจ้าของร้านสอดส่องและกำชับ 4.ไม่ตะโกน สวมหน้ากากตลอดเวลา ตลอดระยะเวลาการดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงลง 5.ไม่ดื่มเกินเวลา และเมื่อกลับที่พักอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า 6..หมั่นล้างมือหลังใช้ห้องน้ำร่วมกันในร้านค้า เพราะมีคนใช้จำนวนมาก 7.ไม่ดื่มในร้านที่ไม่ผ่านมาตรฐาน COVID Free Setting หรือ SHA Plus

“การดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุญาตดำเนินต่างกัน เช่น ระยะเวลาที่ใช้บริการในร้านอาหาร เวลาที่ปิดเปิดการให้บริการแต่ละพื้นที่ เน้นย้ำประชาชนปฏิบัติตามประกาศของพื้นที่ตนเองอาศัย โดยเฉพาะส่วนบุคคลเน้นย้ำดื่มปลอดภัย รับผิดชอบสังคม ผู้ดื่มไม่ควรดื่มจนเมามาย ผู้จำหน่ายดูลักษณะความพร้อมผู้ดื่ม หากดื่มจนเมาครองสติไม่ได้ อาจเกิดอุบัติเหตุและเสี่ยงต่อการป้องกันโรคระดับบุคคล

ผู้ประกอบการต้องเน้นคุมเข้มดื่มกินในร้านด้วย COVID Free Setting” นพ.เกษมกล่าวและว่า สำหรับประชาชนอาจยังไม่มีมาตรการลงโทษถึงผู้ที่เข้าไปใช้บริการ แต่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง ถ้าอยู่ในพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตนเองและคนอื่นภายในร้าน เจ้าจองร้านอาจรับผลกระทบทางตรง จึงต้องเข้มงวดกำชับผู้บริการให้อยู่ในมาตรการที่กำหนด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน