นักวิจัยหวั่น หลังเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา มีการกลายพันธุ์ของหนามโปรตีนกว่า 30 ตำแหน่ง อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่ทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน

REUTERS

เมื่อวันที่ 25 พย. 64 เว็บไซต์ เนเจอร์ วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ ได้เผยแพร่บทความออนไลน์ โดยระบุว่า นักวิจัยในแอฟริกาใต้กำลังเร่งศึกษาสาเหตุของอัตราการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ที่กำลังมีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยสายพันธุ์ดังกล่าวมีการกลายพันธุ์ในลักษณะที่คล้ายกับการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ก่อนหน้า เช่น สายพันธุ์เดลต้า และมีลักษณะที่แตกต่างเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรวดเร็วทั่วแอฟริกาใต้

การแพร่กระจายของเชื้อกลายพันธุ์

เชื้อไวรัส สายพันธุ์ B.1.1.529 ถูกพบครั้งแรกในประเทศบอตสวานา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 และยังพบในนักเดินทางจากประเทศแอฟริกาใต้ที่เข้ามายังฮ่องกง ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งศึกษาและทำความเข้าใจคุณสมบัติของสายพันธุ์ดังกล่าว เช่น สายพันธุ์นี้สามารถในการหลบเลี่ยงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้หรือไม่ ความรุนแรงของโรคจากสายพันธุ์ดังกล่าวมีความรุนแรงมากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างไร เป็นต้น

REUTERS

เพนนี มัวร์ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ ในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก เปิดเผยว่า “นักวิจัยกำลังเร่งศึกษาสายพันธุ์นี้อย่างหนัก โดยขณะนี้เหล่านักวิจัยในห้องปฏิบัติการกำลังประเมินศักยภาพของสายพันธุ์ B.1.1.529 ในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและการติดเชื้อครั้งก่อน ๆ มีการรายงานเกี่ยวกับการติดเชื้อซ้ำและกรณีการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่ในขั้นตอนนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปเกี่ยวกับศักยภาพของสายพันธุ์ดังกล่าว”

ขณะที่ ริชาร์ด เลสเซลส์ แพทย์ด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยควาซูลู นาทัล ในเมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ กล่าวในการแถลงข่าวที่จัดโดยแผนกสุขภาพของแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ระบุว่า “มีหลายสิ่งหลายอย่างที่นักวิจัยยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับสายพันธุ์ B.1.1.529 ลักษณะการกลายพันธุ์ดังกล่าวทำให้เรากังวล แต่ตอนนี้เราต้องเร่งศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของสายพันธุ์นี้ และแนวทางในการตอบสนองต่อการระบาดในภาพรวม”

REUTERS

การเปลี่ยนแปลงของส่วนหนามโปรตีน

นักวิจัยพบว่าเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ B.1.1.529 นี้มีความแตกต่างจากการกลายพันธุ์ครั้งอื่น ๆ เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ในโปรตีนส่วนหนามมากกว่า 30 ตำแหน่ง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการติดเชื้อที่รวดเร็วขึ้นและความสามารถในการหลบเลี่ยงจากระบบภูมิคุ้มกันที่สกัดกั้นการติดเชื้อของมนุษย์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการกลายพันธุ์ที่ส่วนรับของไวรัส ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของมนุษย์ด้วยทั้งสิ้น 10 ตำแหน่ง หากเปรียบเทียบกับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรง เช่น สายพันธุ์เดลตา ก็มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่ง

ผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด B.1.1.529 มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกอย่างมาก ทำให้อาจมีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอาจมีประสิทธิภาพต่ำลงมาก หรือ ใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ B.1.1.529 และอาจทำให้สถานการณ์การระบาดทั่วโลกรับมือได้ยากมากขึ้น

ริชาร์ด เลสเซลส์ แพทย์ด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยควาซูลู นาทัล อธิบายว่า ลักษณะการกลายพันธุ์ของ เชื้อไวรัสโควิด B.1.1.529 นี้ เป็นรูปแบบการกลายพันธุ์ที่นักวิจัยมีความเข้าใจดี และเคยพบการกลายพันธุ์ในลักษณะนี้มาแล้วในเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ทำให้ทราบได้ว่า การกลายพันธุ์ครั้งนี้ สามารถทำให้ภูมิคุ้มกันไม่สามารถจดจำไวรัสโควิดได้ รวมถึงยังสามารถหลบหลีกการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกายบางส่วนได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว และอาจทำให้วัคซีนที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวได้

REUTERS

เพนนี มัวร์ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ กล่าวเสริมว่า จากโมเดลปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ พบว่าสายพันธุ์ B.1.1.529 สามารถหลบเลี่ยงบางส่วนจากระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า ที-เซลล์ ได้ โดยทีมนักวิจัยร่วมของเธอจะสามารถได้รับผลลัพธ์แรกจากห้องปฏิบัติการภายในสองสัปดาห์นี

อาริส คัตโซราคิส นักวิจัยผู้ศึกษาวิวัฒนาการของไวรัสจาก มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากคำถามที่น่าสงสัยว่าประสิทธิภาพวัคซีนลดลงหรือไม่ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอย่างมากมาย แต่คำถามที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้างคือ ความรุนแรงของโรคที่เกิดจากสายพันธุ์ B.1.1.529 นั้นเป็นอย่างไร โดยทีมนักวิจัยในแอฟริกาใต้ ระบุว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า สายพันธุ์ B.1.1.529 ที่เกิดการติดเชื้อนอกทวีปแอฟริกาจะมีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน