อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ชี้ผลวิจัย เคมบริดจ์-ฮ่องกง เผย ‘โควิด โอไมครอน’ ลงปอดช้ากว่าสายพันธุ์อื่น แต่ยังติดได้อยู่

วันที่ 18 ธ.ค.64 นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ความว่า

งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ทางทีม Cambridge ออกมาคือ ไวรัสตัวแทนที่ใช้โปรตีนหนามสไปค์ของโอไมครอนเข้าสู่เซลล์ 3 มิติ ปอดมนุษย์ได้ไม่ดี เทียบกับ เดลต้า และ สายพันธุ์ดั้งเดิม เนื่องจากโปรตีนหนามสไปก์ของโอไมครอนมีการตัดตัวเอง (cleave) ไม่เก่งเท่าอีก 2 สายพันธุ์ทำให้กลไกการเข้าเซลล์ปอดไม่ดีเท่า ทีมวิจัยเชื่อว่าอันนี้อาจเป็นกลไกที่อธิบายว่าโอไมครอนอาจติดเข้าเซลล์ปอดไม่ดีเท่าสายพันธุ์อื่น เช่น เดลต้า และ ตัวดั้งเดิม

เปรียบเทียบกับผลของทีมฮ่องกง เหมือนจะสอดคล้องครับ แต่ผมมีข้อสังเกต และ ข้อกังวลอยู่บางประเด็น คือ ทีม UK ใช้ไวรัสตัวแทน ส่วน HK ใช้ไวรัสตัวจริง ผลของ UK บอกว่า เดลต้านำโด่งอย่างมีนัยสำคัญสูงมาก ขณะที่ HK เห็นความแตกต่างระหว่างดั้งเดิมกับโอไมครอน ขณะที่เดลต้ากับโอไมครอนใกล้กันจนหาความต่างทางสถิติไม่ได้

ผลตรงนี้ทำให้คิดว่า ไวรัสตัวจริงของ HK น่าจะมีแต้มที่สูงกว่าเพราะยังไงก็คือไวรัสที่ไม่ได้ปรุงแต่งอะไร ระบบของ UK อาจจะไม่เหมือนกลไกจากธรรมชาติ อีกประเด็นคือ เซลล์ที่ใช้ ของ HK นำเซลล์ที่แยกจากปอดคนมาใช้โดยตรง (ex vivo)

ส่วน UK ใช้เซลล์ปอดที่สร้างมาจาก stem cell แล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างคล้ายอวัยวะนอกร่างกาย (organoid)

ส่วนตัวผมยังมองว่าระบบของ HK ใกล้ของจริงมากกว่า เพราะเซลล์ที่เอาออกมาจากปอดมี population ของเซลล์ที่หลากหลายกว่าที่สร้างมาจาก stem cell ที่ไม่เหมือนธรรมชาติ 100%
หลายๆคนที่เห็นข้อมูลจาก UK ตอนนี้สบายใจว่าโอไมครอนคงติดปอดได้น้อยมาก

แต่ ผมกลับมองว่าติดน้อยลงแต่ยังติดได้อยู่ครับ ผลจาก HK บอกว่าโอไมครอนอาจติดปอดช้ากว่าสายพันธุ์อื่น 24 ชั่วโมง เพราะปริมาณไวรัสโอไมครอนที่ 48 ชั่วโมง ก็เพิ่มสูงกว่าเดลต้าและดั้งเดิมที่ 24 ชั่วโมงเหมือนกัน

สรุปคือ ติดช้าแต่ก็ยังติดได้นะครับ ข้อพึงระวังคือ ผลที่มีทั้งหมดตอนนี้คือในจานเพาะเชื้อนะครับ ข้อมูล in vivo ในสัตว์ทดลอง ยังไม่มีออกมา…อาจจะสรุปเกินจริงกันได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน