รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เปิดเผยถึงการติดตามอาการผู้ป่วยโอมิครอนในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีอาการน้อยถึงไม่มีอาการ ติดเชื้อง่าย แต่อัตราความรุนแรงน้อยลง

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ป่วยโอมิครอนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ รพ.เอกชน และ รพ.ต่างจังหวัด จากการติดตามอาการส่วนใหญ่มีอาการน้อยจนถึงไม่มีอาการ ทางการแพทย์ได้มีการประชุมเตรียมการเป็นระยะๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ทั่วโลกระบุอาการรุนแรงน้อย พบอาการรุนแรงเพียงบางประเทศเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

ในส่วนของประเทศไทยทั้งผู้ป่วยคนไทยและคนต่างประเทศที่เดินทางเข้ามากว่า 200 รายยังไม่มีอาการรุนแรงใดๆ แนวทางการรักษาก็คงเดิมไม่ได้แตกต่างจากเดิม ที่มีการระบุว่าเชื้อโอมิครอนลงปอดช้านั้นอาจจะไม่จริง เนื่องจากบุคคลนั้นอาจจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน คนที่ฉีดวัคซีนไม่ว่าเชื้อสายพันธุ์ใดก็มีผลทำให้เชื้อลงปอดช้าได้อยู่แล้ว จึงอาจจะไม่ได้เป็นพฤติกรรมของตัวเชื้อโอมิครอนเอง ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงถือเป็นเกราะป้องกันโอมิครอนได้ แม้จะว่าจะมีประสิทธิภาพเหลือสัก 50-60% แต่ยังสามารถชะลอเชื้อไปได้จนกว่าจะมีวัคซีนที่จำเพาะในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งคาดว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนน่าจะเร่งวิจัยให้เสร็จประมาณปลายมี.ค.-เม.ย.2565

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.จากการสุ่มตรวจสายพันธุ์โอมิครอนในไทยมีสัดส่วนประมาณ 3% จะค่อยๆ ขึ้นแต่อาจจะไม่ชันเหมือนเช่นในต่างประเทศ คาดการณ์ว่าจะถึง 50% ของเชื้อทั้งหมดในราวครึ่งเดือนหลังของ ม.ค. ถึงก.พ.2565 อาจจะมียอดผู้ป่วยใหม่รายวันพีคที่ 1-2 หมื่นคน เพียงแต่ผู้ป่วยอาการหนักจะอยู่ที่ราว 2% หรือ 200-400 คนต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 5% ซึ่งภาคการแพทย์ยังรับมือไหว อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการประเมินคาดการณ์ช่วงเวลาอาจจะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถคุมสถานการณ์ในช่วงปีใหม่ได้ดีมากน้อยแค่ไหน รวมถึงช่องโหว่จากการเล็ดรอดเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีเล็ดรอดอยู่ ขึ้นอยู่ว่าจะตามจับได้หรือไม่

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ที่รพ.ศิริราชยังไม่มีเคสผู้ป่วยโอมิครอนเข้ามารักษา แต่ได้เตรียมการรองรับไว้ ทุก รพ.ในกทม.ก็เตรียมการไว้ เนื่องจากเชื้อโอมิครอนประมาณ 50-60% อยู่ในกทม. แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการไม่หนัก แต่การรับเข้ามารักษาในรพ.เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายในชุมชน จนกว่าจะรับไม่ไหวหรือกลายเป็นเชื้อหลักก็คงต้องปรับวิธีการรักษาด้วยระบบโฮมไอโซเรชั่น แต่คาดว่าจะไม่รุนแรง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวถึงกรณีที่ฝรั่งเศสยกเลิกการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ว่า ฝรั่งเศสยกเลิกเนื่องจากมีข้อมูลถึงประสิทธิภาพการใช้ยาในสถานการณ์จริงที่ลดลงจาก 50 กว่า% หรือ 30 % สำหรับประเทศไทยมีการสั่งจองจัดซื้อไปแล้ว คงไม่ยกเลิก เราอาจจะเก็บไว้ใช้คู่กับยาฟาวิพิราเวียร์ก็อาจจะเพิ่มประสิทธิภาพขึ้น การยกเลิกการใช้ยาตัวใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยสั่งไปแล้วอาจจะยกเลิกไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้จักวิธีใช้ก็เชื่อว่ายังคงใช้ได้อยู่ ประสิทธิภาพอาจจะลดลงบ้างแต่ยังดีกว่าไม่มีอะไรใช้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน