สธ. เผย โควิด โอมิครอน ครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ที่เหลืออาการน้อย ผู้ป่วยโอมิครอน 100 รายแรก ไม่มีใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่มีเสียชีวิต พบปอดอักเสบเล็กน้อย 7 ราย

วันที่ 27 ธ.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า ขณะนี้ทั่วโลกติดเชื้อโควิด 19 กว่า 278 ล้านราย เสียชีวิต 5.39 ล้านราย พื้นที่ระบาดอยู่ในอเมริกาและภาคพื้นยุโรป สายพันธุ์ที่ระบาดคือ โอมิครอน สถานการณ์โลกตั้งแต่มีการระบาด ขณะนี้เป็นเวฟที่ 4 ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโอมิครอน แต่อัตราเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม หมายถึงการระบาดของโอมิครอนไม่ได้ทำให้ผู้เสียชีวิตมากขึ้น แสดงว่า อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ขณะนี้มีโอมิครอน 106 ประเทศ ส่วนประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.เป็นต้นมา สามารถคัดกรองผู้เข้าประเทศตรวจพบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสะสม 514 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุม มีบางส่วนเล็ดลอดและไปเยี่ยมญาติ อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้

“ส่วนอาการของผู้ป่วยโอมิครอนในไทย 90% เป็นอาการน้อยหรือไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อยประมาณ 10 กว่า% และอาการมาก 3-4% ส่วนอังกฤษศึกษาพบว่า โอมิครอนเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าเดลตาครึ่งหนึ่ง ขณะที่แอฟริกาใต้พบว่าเชื้อมักไม่ได้ลงปอด แต่จะอยู่ที่แถว ๆ คอ และหลอดลม แต่ถ้าลงปอดก็ทำให้อันตรายรุนแรงเหมือนเดลตาเช่นกัน สำหรับไทยมีการศึกษาอาการของคนไข้สายพันธุ์โอไมครอน 41 รายที่ดูแลในโรงพยาบาล พบอาการไอมากที่สุด 54% รองลงมาคือ เจ็บคอ และไข้ อาการได้กลิ่นลดลงพบเพียง 1 ราย หรือ 2% ทุกรายได้รับการรักษาแต่เบื้องต้น และให้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษา หากให้ยาตั้งแต่ต้นอาการจะดีขึ้นใน 24-72 ชั่วโมงหลังรับยา และให้จนครบ 5 วัน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ส่วนอัตราการใช้เตียงของประเทศ ขณะนี้เรามี 1.7 แสนเตียง จากที่เคยขยายถึง 2 แสนเตียง แต่ปัจจุบันลดลงเพราะเคสไม่มาก ปัจจุบันเราใช้เตียงประมาณ 13.7% โดยเตียงระดับ 3 หรือสีแดง มี 5 พันเตียงใช้ 31.6% เตียงระดับ 2 สีเหลือง มี 6 หมื่นเตียง ใช้ประมาณ 25.6% และเตียงระดับ 1 สีเขียวเรามีมาก สามารถเพิ่มได้ในเวลาอันสั้น มี 1.1 แสนเตียง ใช้ประมาณ 6.4%

สธ. เผย โควิด โอมิครอน ครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ที่เหลืออาการน้อย ผู้ป่วยโอมิครอน 100 รายแรก

สธ. เผย โควิด โอมิครอน ครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ที่เหลืออาการน้อย ผู้ป่วยโอมิครอน 100 รายแรก

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า หากไม่มีอาการมาก สธ.จะเน้นให้ผู้ติดเชื้อจากโอมิครอนอยากให้อยู่ที่บ้านหรือชุมชน ซึ่งตอนเดลตาก็สามารถดูแลได้ผลดี ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณ 15 ล้านกว่าเม็ด ประมาณการณ์ใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน โดยองค์การเภสัชกรรมเตรียมสารสำคัญผลิตไว้อีก 60 ล้านเม็ด และสามารถเร่งผลิตเพื่อนำมาใช้ได้ เรมเดซิเวียร์มีกว่า 4 หมื่นขวด

“สรุปสถานการณ์โควิดทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป เกิดจากโอมิครอน ส่วนไทยยังควบคุมผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างดี อัตราตายลดลง ขณะนี้โอมิครอนเริ่มมากขึ้นในไทยเป็นผู้เดินทางมาจากแถบยุโรป สหรัฐฯ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุม ส่วนการควบคุมโรคเหมือนเดิมใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือ ตรวจอุณหภูมิและ ATK หากติดเชื้อก็ควบคุมได้โดยเร็ว การระบาดใหญ่จะไม่มี ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่อาจพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ต้องควบคุมไม่ให้มากเกินไป ขอให้เร่งมาฉีดวัคซีนทั้งคนยังไม่ฉีด เข็ม 2 หรือเข็ม 3” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลวันที่ 27 ธ.ค. จากการรวบรวมข้อมูลทั้งต่างประเทศและในประเทศ พบว่า อาการของโอมิครอนมักเป็นอาการทางเดินหายใจส่วนบน ไอ เจ็บคอ มีไข้ บางรายอาจปอดอักเสบแต่ไม่มาก เกือบทุกประเทศรายงานตรงกันว่าไม่รุนแรงไปกว่าเดลตา บางประเทศบอกรุนแรงน้อยกว่าเดลตาพอสมควร ส่วนประเทศไทยใช้ฟาวิพิราเวียร์เป็นหลัก เมื่อให้เร็วใน 3 วันผู้ป่วยอาการดีขึ้น โดยข้อมูลการรักษาโอมิครอน 100 รายแรกในไทย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 99 ราย ในประเทศ 1 ราย อายุ 34-77 ปี ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ 48% 11% กำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และ 41% มีอาการไม่มาก

“100 รายแรกยังไม่มีรายใดใส่ท่อช่วยหายใจและไม่มีรายใดเสียชีวิต แต่มีปอดอักเสบ 7 ราย แต่ 5 รายปอดอักเสบแล้วออกซิเจนไม่แย่ลง คือเป็นปอดอักเสบน้อย ๆ มี 2 รายออกซิเจนแย่ลงแต่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดย 7 รายที่ปอดอักเสบรับวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 2 โดส จึงย้ำว่าอยากให้ทุกคนถ้าฉีดเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว การฉีดกระตุ้นมีผลป้องกันเชื้อโอมิครอนดีขึ้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทางการแพทย์แบ่งเตียง 3 ระดับ แต่เตียงระดับ 2 มี 2 ระดับ คือ ใช้ออกซิเจนน้อยกับออกซิเจนไฮโฟลว์ ซึ่งส่วนใหญ่มีปอดอักเสบมาก ค่าออกซิเจนในกระแสเลือดแย่ลง และมีเตียงระดับ 0 คือ HI และ CI สำหรับเตียงใน รพ.เรามี 1.7 แสนเตียง โดยเตียงเฉพาะปอดอักเสบรุนแรงที่ออกซิเจนแย่ลง คือ เตียงระดับ 2.2 และ ระดับ 3 ทั้งประเทศมี 11,000 เตียง เป็นระดับ 2.2 จำนวน 6 พันเตียง ระดับ 3 จำนวน 5 พันเตียง

จะรับโอมิครอนมากแค่ไหน หากพิจารณาว่าอาการรุนแรงปอดอักเสบอยู่ รพ.อย่างน้อย 14 วัน รองรับอาการรุนแรงได้ประมาณ 785 คนต่อวัน เมื่อคิดกลับมาเป็นผู้ป่วยทั้งหมด เตียงทั่วประเทศรับผู้ป่วยได้ประมาณ 52,300 คนต่อวัน ซึ่งยังไม่รวม HI ที่รับได้อีกหลายหมื่นราย และกรณีฉากทัศน์แย่ที่สุดประมาณว่ามี 3 หมื่นคน สถานการ์เตียงจึงดูไม่มีปัยหาอะไร และเตียงยังสามารถเพิ่มเติมขึ้นมาได้

สำหรับ กทม.และปริมณฑล เตียงระดับ 2.2 และ 3 นั้น ถ้ามีผู้ป่วยโควิดไม่เกิน 8 พันคนต่อวันก็ไม่มีปัญหา ซึ่งผู้ป่วยใน กทม.ที่เคยมีมากที่สุดตอนกลาง ส.ค.คือประมาณ 5 พันคน ถ้าตามนี้ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ 8 พันกว่าคน อาการรุนแรง 100 กว่าคนต่อวัน จำนวนเตียงเราน่าจะพอไหว และยังสามารถเพิ่มขยายเตียงระดับ 2.2 และ 3 นี้ได้อีก

“HI จะเป็นคำตอบของการแพร่ระบาดโอมิครอนใน 1-2 เดือนข้างหน้า เพราะครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ตอนนี้เราทำ Quality Home Isolation ซึ่งเดิมประชาชนตรวจ ATK ด้วยตัวเอง เมื่อโทร 1330 จะตอบกลับใน 24 ชั่วโมง เราตกลงกันว่าขอให้สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ HI ดทรกลับหาผู้ป่วยใน 6 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ประชาชนกังวลใจ และเตรียมพร้อมอุปกรณ์ที่ส่ง ทั้งปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือด ยา อาหาร ส่วน CI ผู้ว่าฯ กทม.ให้เตรียมทุกเขต และเตรียมสำหรับเด็กด้วยอายุ 5-11 ปีที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจมีการระบาดได้ นอกจากนี้ กำลังมีการปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลโควิด แต่คิดว่าคงไม่แตกต่างกันมาก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีต่างประเทศพบผู้ป่วยเด็กมากขึ้น จึงให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ประสานโรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน กทม. กลาโหม ตำรวจ เตรียมเรื่องเตัยงเด็ก และเด็กกินยาฟาวิพิราเวียร์เม็ดไม่ได้ ก้ทำเป็นยาน้ำ ให้ทุก รพ.เตรียมการ เพราะผู้ป่วยเด็กอาจเพิ่มขึ้นมาก และเตรียมทำ HI CI สำหรับเด็กโดยเฉพาะ มีกุมารแพทย์เป็นที่ปรึกษา ประสานจัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับเด็ก หน้ากากสำหรับเด็ก โดยใน กทม.จะต้องมี CI โซนละ 1 แห่งรับต่อในผู้ป่วยอาการรุนแรงได้ และจดเตรียมเตียงระดับ 3 สำหรับผู้ป่วยอาการเด็กอาการรุนแรง

“เราจะใช้ HI เป็นหลัก เพราะทำได้จริง มีประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายประเทศ ผู้ป่วยอยู่ HI ไม่ได้ ทำ CI ทุกสัปดาห์เราอัปเดตตัวเลขเตียงระดับ 2 และ 3 หากแนวโน้มครองเตียงเกิน 60-70% จะหาทางขยายเตียงระดับ 2-3 ต่อไป และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและ สปสช.จะปรับเกณฑ์ค่าใช้จ่ายฮอสปิเทล เข้าใจว่าเข้า ครม.พรุ่งนี้ ส่วนแรงงานต่างด้าว เน้นย้ำทุกจังหวัดเตรียม Factory Isolation เพื่อแบ่งเบาการใช้เตียงใน รพ.” นพ.สมศักดิ์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน