สธ.คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ โอมิครอน ทำหลายประเทศตัวเลขพุ่ง แต่พบอาการไม่รุนแรง กราฟหลายประเทศผู้ป่วยแตะหลักแสน แต่ผู้เสียชีวิตไม่เพิ่มตาม

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ฉากทัศน์การแพร่ระบาด และการปฏิบัติตัวของประชาชน มีการประเมินสถานการณ์ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งหลายประเทศเริ่มกลับมาระบาดหนัก โดยมีสายพันธุ์หลัก คือ โอมิครอน ถือว่าการระบาดเวฟ 4 กำลังไต่สูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตยังไม่สูงตาม หมายถึงการระบาดของโอไมครอนไม่ได้ทำให้ผู้เสียชีวิตมากขึ้น แสดงว่า อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของประเทศไทยผู้ป่วยอาการหนักลดลงต่อเนื่อง และนับตั้งแต่มีโอไมครอนเข้ามา ยังอยู่ในการควบคุมได้ แม้จะมีการไปพบปะ สัมผัสคนอื่น ระบบสอบสวนโรคเราสามารถติดตามและอยู่ในระบบได้แล้ว โดยรายงานวันนี้เราพบเสียชีวิต 18 ราย ถือว่าต่ำสุดแล้ว โดยยังพบว่า ผู้เสียชีวิต 70-80% ไม่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม ในกราฟการแสดงอัตราการติดเชื้อ ล่าสุด สธ.ได้จัดทำระดับการเตือนภัยโรคโควิด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับ 3

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่าปัจจุบันเรามาถึงทางแยก เพราะมีการระบาดของโอไมครอน ซึ่งหากเราไม่มีมาตรการ ไม่ทำอะไรเลยจะเข้ากับเส้นกราฟสีเทา คือ มีการระบาด ควบคุมได้ยาก ใช้เวลา 3-4 เดือนในการควบคุม อาจมีการติดเชื้อรายวัน อาจถึง 3 หมื่นราย แต่หากเราควบคุมได้ดีตามเส้นสีเขียว จะอยู่ที่หมื่นรายนิดๆ และสามารถควบคุมโรคได้เร็วประมาณ 1-2 เดือนตัวเลขจะลดลงมา ซึ่งหากทำได้ในระดับปานกลาง ตัวเลขผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นรายต่อวัน และค่อยๆทรงตัว และค่อยๆลดลงในที่สุด ทางกระทรวงสาธารณสุขอยากให้เป็นเส้นสีเขียว จึงต้องร่วมมือกันอีกครั้ง เพราะไม่อยากล็อกดาวน์ประเทศ

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วันนี้ (27 ธ.ค.) มีการติดเชื้อจากต่งประเทศ จากต่างประเทศ 92 ราย ผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ตั้งแต่เปิดประเทศมาเราพบเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอไมครอน อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโอไมครอน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบให้ทางกรมควบคุมโรคจัดทำฉากทัศน์ขึ้นมา ซึ่งพบว่า โอไมครอนระบาดเร็วกว่า ง่ายกว่า แต่ความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ซึ่งหลายประเทศ อย่างสิงคโปรก็ออกมาว่า โอไมครอนไม่ได้รุนแรงมาก แต่เราต้องพยายามป้องกันการติดเชื้อให้มาก ไม่ให้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วเกินไปนัก เพราะหากแพร่ระบาดและมีคนป่วยมากๆ จะกระทบต่อระบบการดูแลของสาธารณสุข

เมื่อถามถึงกรณีฉากทัศน์ไทยที่หากไม่ทำอะไรจะมีผู้ป่วยสูง 3-4 หมื่นราย ขณะที่อังกฤษเป็นแสนราย เพราะอะไรถึงแตกต่างถึง 3 เท่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การประเมินฉากทัศน์นั้น เราจะมีข้อมูลใส่ไปในระบบและประเมินออกมาเป็นเส้นๆ ซึ่งดูหลายๆข้อมูล โดยสิ่งที่ประเทศไทยและอังกฤษเหมือนกันคือประมาณ 60-70 ล้านคน และหากดูเปอร์เซ็นต์ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ก็คล้ายกัน แต่สิ่งที่เราดีกว่าคือความร่วมมือของประชาชน โดยเริ่มมาฉีดวัคซีนมาก โดยเฉพาะเข็มที่ 3 เพราะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวัคซีนยี่ห้อไหน เมื่อผ่านไป 3 เดือนภูมิฯเริ่มตก ดังนั้น สิ่งที่เราต่างกันคือ การเร่งฉีดเข็ม 3

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน