หัวหน้าศูนย์จีโนมรามาฯ ชี้ “โอมิครอน” เหมือนวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ กระตุ้นภูมิ IgA อยู่ในปอดนาน ยังต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น อาจยังรุนแรงในคนแก่-โรคประจำตัว
เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2565 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า ขณะนี้ประเทศที่ติดเชื้อโอมิครอนมาก่อนอย่างแอฟริกาใต้ สถานการณ์ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิตลดลงมาก เนื่องจากวัคซีนที่ฉีดกระตุ้นแอนติบอดี IgG และ IgM
แม้ประสิทธิผลจะลดลงครึ่งหนึ่ง แต่ T-Cell ยังมีเต็มประสิทธิภาพ เมื่อติดเชื้อตามธรรมชาติที่จะกระตุ้นแอนติบอดี IgA อยู่ในปอดนานกว่า ทำหน้าที่เสมือนวัคซีนเชื้อเป็นชนิดอ่อนฤทธิ์ เมื่อติดเชื้อตามธรรมชาติกันจำนวนมาก จึงทำให้การติดเชื้อลดลง อย่างอิหร่านที่ติดเชื้อตามธรรมชาติจำนวนมากก็เป็นเช่นนี้
“ดังนั้นโอมิครอนดูโดยภาพรวมหลังจากทยอยแพร่ระบาดทั่วโลก จากนั้นอาการและผู้ติดเชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนเดลตา ส่วนการใช้วัคซีนต่อไปในอนาคตอาจจะต้องคำนึงเส้นทางการติดเชื้อด้วย จะเห็นว่ากรณีที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะหรือเป็น mRNA เน้นเฉพาะส่วนของหนามแหลมอย่างเดียว จึงยังมีความสุ่มเสี่ยง เพราะโอมิครอนกลายพันธุ์ในส่วนหนาม แอนติบอดีจับไม่ได้ แอนติบอดีสังเคราะห์หลายตัวก็ทำงานไม่ได้
ตัวโอมิครอนจึงเปรียบเสมือนตัวที่เข้ามาเติมเต็ม ทำให้กลายเป็นวัคซีนครบสูตร ทั้งเชื้อตาย เชื้อไวรัสเป็นพาหะ mRNA และเชื้อเป็นที่อ่อนกำลัง อาจเรียกได้ว่าเป็นซูเปอร์วัคซีนที่ดึงเอาส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนามแหลม เปลือกของไวรัสเข้ามาด้วย แล้วฉีดเข้าไป” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า ฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISAID มีการอัพโหลดไวรัสโควิด-19 กว่า 6.6 ล้านตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์โอมิครอนจำนวนกว่าหมื่นตัวอย่าง ส่วนประเทศไทยส่งข้อมูลโอมิครอนเข้าไปยังน้อยอยู่ แต่ที่เห็นตรวจพบจำนวนมาก ขณะนี้เป็นการตรวจแบบ PCR ยังไม่ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม ต้องใช้เวลา
ถามว่าหลายคนกังวลฉีดเข็มกระตุ้น ขณะที่โอมิครอนดูเหมือนอาการไม่รุนแรง ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า หลายประเทศในแอฟริกาประชากรมีอายุเฉลี่ยเพียง 50-60 ปี ยังไม่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยต้องรอข้อมูลจากอังกฤษและออสเตรเลีย ซึ่งประชากรมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 75 ปี ว่าผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเมื่อติดเชื้อโอมิครอนแล้วมีอาการไม่รุนแรงเช่นกัน ถึงสรุปลงไปได้ว่าโอมิครอนไม่ก่อโรครุนแรง
ช่วงนี้เมื่อครบกำหนดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ควรไปฉีดกันไว้ก่อน หากกังวลเรื่องผลข้างเคียงอาจพิจารณาฉีดเข้าผิวหนัง ซึ่งอาจมีอาการคันบริเวณที่ฉีดบ้าง แต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า โควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ อย่าประมาท การ์ดต้องไม่ตก เพราะองค์ความรู้เรายังน้อย ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จะตั้งสมมติฐาน หรือคาดคะเนจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีอยู่ปัจจุบันเท่านั้น
เมื่อถามว่าโอมิครอนมีแนวโน้มกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพราะตัวโอมิครอนทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็วและติดไปทั่วโลก ทำให้รณรงค์เร่งการฉีดวัคซีน เพราะโอมิครอนไปถึงทุกที่ ขณะที่โอมิครอนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไปสร้างภูมิตามธรรมชาติ
จะเห็นข้อมูลจากแอฟริกาใต้ภายใน 1-2 เดือนผู้ติดก็ลดลง เหมือนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดคะเนใน 6 เดือนแรกนี้น่าจะเห็นชัดถึงแนวโน้ม และ 6 เดือนหลังจะชี้ชัดได้ว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะมีตัวไหนที่จะแพร่ระบาดเข้ามาอีก
หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ กล่าวว่า ยังต้องเน้นเรื่องของการฉีดวัคซีนทั่วโลก แม้หลายคนยังกังวลถึงความเสี่ยง แต่ฉีดเป็นการป้องกันการระบาด ป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัส ที่เราพบไวรัสกลายพันธุ์ก่อนหน้านี้คิดว่าจะจบที่เดลตา แต่กลับมีโอมิครอนขึ้นมา เพราะแอฟริกาใต้ฉีดวัคซีนน้อยมาก จึงเป็นแหล่งที่ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้ดี
ยิ่งไวรัสเพิ่มมากก็ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ ดังนั้น วัคซีนนอกจากป้องกันความรุนแรงของโรค ป้องกันการเสียชีวิต ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ เป็นอีกเหตุผลที่ต้องฉีดวัคซีน อาจจะไม่ใช่เพื่อตัวเราเท่านั้น แต่เพื่อคนทั้งโลก ไม่ให้เกิดโอมิครอนกลายพันธุ์ซ้ำเข้าไปอีก
“วัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะควบคุมไวรัสทำให้กลายเป็นสายพันธุ์ประจำถิ่น เป็นการควบคุมโรคให้เร็วขึ้น หากไม่ฉีดก็อาจจะยืดยาวไปอีก ทั่วโลกจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70% ตามที่ WHO ตั้งเป้าไว้จึงจะสัมฤทธิผล หากปล่อยให้ประเทศที่มีศักยภาพสูงฉีดไป 3-4 เข็ม แต่ประเทศที่ด้อยกำลัง ไม่ได้รับการฉีดหรือฉีดน้อก็จะยังคงเป็นปัญหา เพราะไวรัสตัวใหม่รออยู่แล้ว ถ้าเราไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ หรือภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน ไวรัสตัวใหม่ก็มาแน่” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว