ศูนย์จีโนมรามาฯ เผยยังไม่พบข้อมูลโควิดลูกผสม “เดลตาครอน” ในฐานข้อมูลโลก ย้ำการถอดรหัสพันธุกรรมสายสั้น ไม่จำเพาะหากปนเปื้อนเชื้อ 2 สายพันธุอาจวิเคราะห์ผิดได้ เว้นการตรวจแบบสายยาว ส่วนไทยยังไม่พบลูกผสม

วันที่ 9 ม.ค.2565 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยกรณีข่าวนักวิจัยในไซปรัสพบเชื้อโควิดลูกผสม เดลตากับโอมิครอน ในชื่อ เดลตาครอน (Deltacron) 25 ราย ว่าจากการติดตามในฐานข้อมูลโลก GISAID ยังไม่พบรายงานดังกล่าว

” เห็นแต่ข้อมูลในโซเซียลมีเดีย ทั้งนี้การส่งข้อมูลเข้า GISAID จะผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการยืนยัน เชื่อว่าเร็วๆ นี้คงจะทราบแน่ชัดว่ามีลูกผสม (ไฮบริด) เดลตาครอนหรือไม่ หากมีจริงจะถือเป็นตัวแรกของโลกที่เป็นลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกันที่ผ่านมาใน GISAID ที่มีข้อมูลมากกว่า 6 ล้านตัวอย่าง ยังไม่เคยมีลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน ”

ศ.ดร.

ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลผ่านสื่อ ขณะนี้มีทั้งระบุว่า เป็นลูกผสมหรือไม่ก็มี 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยเคยพบในแคมป์คนงานที่ 1 คน มีทั้งสายพันธุ์อัลฟาและเดลตา ซึ่งเป็นไปได้แต่มีไม่มาก ส่วนที่ระบุพบเดลตาครอน 25 ตัวอย่างก็ยังน่าสงสัย เพราะการเกิดลูกผสมหากเกิดขึ้นคงเกิดได้ไม่มาก คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสมีทั้งเทคนิคการถอดแบบสายสั้นประมาณ 300 ตำแหน่ง และแบบสายยาว 2 -3 พันตำแหน่ง

” การถอดแบบสายสั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่จำเพาะ บางครั้งตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้วิเคราะห์ผิดพลาดได้ แต่หากเป็นการถอดสายยาว อย่างศูนย์จีโนมฯ ก็ใช้วิธีนี้ จะสามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดชัดเจน รวมถึงเป็นลูกผสมหรือไม่ หรือเกิดจากการปนเปื้อนในแล็บวิจัย” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ ขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อมูล ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่า เป็นข่าวหรือรายงานทางการ ซึ่งกรมวิทย์ฯติดตามข้อมูลจากทั่วโลกตลอดเวลา ขอให้ใจเย็น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป ส่วนกรณีมีนักวิชาการระบุว่า การรายงานสายพันธุ์โอมิครอนของไทยต่ำกว่าความเป็นจริง

เชื่อ เดลตาครอน

เรื่องนี้ได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า สัดส่วนการรายงานเชื้อโอมิครอนมีทั้งสูงและต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเราตรวจสายพันธุ์จากผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศทุกคน ก็จะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ส่วนผู้ติดเชื้อในไทยไม่ได้ตรวจหาสายพันธุ์ทุกคน ใช้วิธีการสุ่มตรวจ เราจะวางระบบการสุ่มตรวจ เพื่อที่จะดูสัดส่วนของการระบาดของสายพันธุ์ให้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด การป้องกันตัวเองยังเหมือนเดิมคือ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน