กรมวิทย์ ตรวจพบ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 แล้วรวม 14 ราย จับตาดูสัปดาห์ถัดไป สัดส่วนมากขึ้นหรือไม่ ส่วนภาพรวมเสียชีวิตจากโอมิครอน 7 ราย

วันที่ 26 ม.ค.2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถอดรหัสพันธุกรรมพบสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 พบครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. โดยมีการส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูลโลก GISIAD ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้รวมทั้งหมด 14 ราย

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า แต่ทาง GISAID ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลก่อน จึงปรากฏข้อมูลแล้ว 6 ตัวอย่าง ส่วนอีก 8 ตัวอย่างจะขึ้นปรากฏให้เห็นอีก 1-2 วัน ส่วน 3 คำถามเวลามีสายพันธุ์ใหม่ คือ แพร่เร็ว รุนแรง และหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ปัจจุบันของ BA.2 ยังมีน้อยเกินไปที่จะสรุป

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า แต่เรื่องของการแพร่เร็วนั้น หากสัดส่วนเปลี่ยนจากเดิม 2% ขึ้นเป็น 5-10% ในเวลาถัดมาอาจจะต้องจับตา แสดงว่าอาจจะแพร่เร็วกว่า ส่วนอาการหนัก ข้อมูลในประเทศไทย 14 รายที่พบขณะนี้ มาจากต่างประเทศ 9 ราย และติดเชื้อในประเทศ 5 ราย โดยมี 1 รายเสียชีวิต คือ คุณป้าติดเตียงจากภาคใต้ ที่เป็นผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 รายแรกนั้น ก็ยังบอกไม่ได้ว่า BA.2 รุนแรงกว่า BA.1 หรือไม่

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เราส่งข้อมูลโอมิครอน 7 พันราย ให้กรมการแพทย์ไปตามดู พบผู้เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็น 0.1% อัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ แต่รายละเอียดว่าอาการหนักแค่ไหน ปานกลางแค่ไหน ซึ่งจริงๆ ไม่เยอะ แต่กรมการแพทย์กำลังทำรายละเอียด รวมถึงใครฉีดวัคซีนติดมากกว่าน้อยกว่าก็ต้องรอข้อมูลกรมการแพทย์แถลง

กรมวิทย์ ตรวจพบ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 แล้วรวม 14 ราย จับตาดูสัปดาห์ถัดไป

กรมวิทย์ ตรวจพบ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 แล้วรวม 14 ราย จับตาดูสัปดาห์ถัดไป

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจสายพันธุ์ย่อยเดลตาเราพบมากกว่า 120 ตัว ที่พบมากที่สุดคือ AY 85 ที่ค่อนข้างมากในภูมิภาคนี้ บ้านเราพบ 49% อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดหากเดลตาถูกแทนด้วยโอมิครอน เดลตาที่กลายพันธุ์ก็ไม่มีความหมาย เพราะคนติดเชื้อเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด ก็ต้องมาติดตามโอมิครอนต่อไปทั้ง BA.2 BA.3 หรือการกลายพันธุ์อื่นที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องใช้ระบบของเราในการตรวจจับ ซึ่งเรามีกระบวนการตรวจจับการกลายพันธุ์ได้เร็วพอ

“เราเหมือนหลายประเทศในโลก ที่ว่า ก.พ.นี้น่าจะเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่ ป่วยง่าย แพร่เชื้อเร็ว แต่ความรุนแรงหนักและเสียชีวิตน้อย แต่ต้องบูสเตอร์ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง เพราะโอมิครอนในรอบนี้พบว่า คนที่มีร่างกายแข็งแรง รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสเสียชีวิตจะน้อยมาก แต่ผู้สูงอายุขึ้นไปกราฟเสียชีวิตชันขึ้นมาก อยากให้กลุ่มเป้าหมายคนสูงอายุมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นพ.ศุภกิจกล่าว

เมื่อถามว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 ทั่วโลกมีมากน้อยแค่ไหน มีผลต่ออาการและการกลายพันธุ์หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากการรายงานใน GISAID พบว่า BA.2 มีประมาณหมื่นตัวอย่าง และ BA.1 ประมาณ 4.2 แสนตัวอย่าง หรือประมาณ 1 ใน 40 เศษ ๆ แต่จะใช้สัดส่วนนี้เลยไม่ได้ เพราะทั่วโลกมีโอมิครอนหลายสิบล้าน แต่ถ้าดูจากสัดส่วนนี้ก็ถือว่า BA.2 ยังไม่มาก แต่บางประเทศอย่างเดนมาร์กเขารู้สึกว่า BA.2 สัดส่วนสูงขึ้น ก็ต้องจับตาดู

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า แต่ของเราเจอ 14 รายจากหมื่นกว่าราย ก็ต้องติดตามต่อไปในสัปดาห์ถัด ๆ ไป ว่าจะมีโผล่ขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญอะไรหรือไม่ ขณะนี้สรุปว่ายังไม่ต้องวิตกกังวลอะไร คงไม่ได้เหนือกว่า BA.1 อย่างเห็นได้ชัด เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ช่วงโอมิครอนระบาด 1-2 เดือนก็น่าจะแซงขึ้นมา ตอนนี้ยังไม่เยอะอะไร ส่วนการกลายพันธุ์อื่นทั่วโลกช่วยกันเฝ้าระวัง ต้องอาศัยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวรายงาน

ถามกรณีการเฝ้าระวังชายแดน โดยเฉพาะเมียนมา เนื่องจากยังมีการระบาดจากอินเดีย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เราสุ่มตรวจสายพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในเกณฑ์คือเดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งเครื่องบินหรือชายแดน เราต้องสุ่มตรวจประจำ เพียงแต่ทุกคนต้องช่วยกัน การลักลอบข้ามแดนไม่ผ่านระบบจะน่ากลัว เพราะจะเจอเมื่อป่วยแล้ว ตรวจพบตอนนั้นไม่ช่วยอะไร เราไม่ค่อยห่วงผู้ที่มาตามตรอกออกตามประตู แต่ลักลอบจะไม่เจอในระบบ จนเมื่อเกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อแล้ว ขอความร่วมมือขอให้เข้มงวดรวมถึงคนนำเข้าแรงงาน ขอให้เข้าใจหลักการข้อนี้

ถามต่อว่า ATK ยังตรวจ BA.2 ได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การตรวจ RT-PCR และ ATK ยังตรวจได้ ไม่มีประเด็นอะไรต้องห่วงกังวล

ถามว่าการกลายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนหากไม่รุนแรง อีกนานแค่ไหนโรคจะเบาบางลงเป็นโรคประจำถิ่น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า นี่เป็นความหวังของทุกคน องค์การอนามัยโลกก็บอกน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไรจะจบ แต่ธรรมชาติจะบอกเอง เมื่อไม่ค่อยมีใครเสียชีวิตแล้ว การติดเชื้อไม่รุนแรง ต่อไปมาตรการจะปรับไปตามสถานการณ์ ต่อไปอาจะไม่ต้องตรวจแล้ว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า อย่างไข้หวัดใหญ่ 2009 ช่วงแรกตรวจเยอะ หลัง ๆ รู้สึกว่าไม่มีปัญหา ป่วยก็ไปรักษา เพียงแต่ว่าวันไหนเราอาจจะบอกไม่ได้ ที่เรากลัวคือมีการกลายพันธุ์ตัวใหม่ที่ไม่ใช่โอมิครอน และพฤติกรรมอาจไม่ใช่แค่แพร่เร็วอย่างเดียว แต่อาจรุนแรงกว่านี้ แต่เราไม่หวังอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมักคลี่คลายไปในทางอยู่ร่วมกันได้

ถามว่าหากระบาดครอบคลุมแล้วต้องตรวจสายพันธุ์ไหม นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เราจะไม่ตรวจเยอะเท่าทุกวันนี้ แต่พื้นฐานการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัวต้องมี มิเช่นนั้นทั่วโลกจะไม่มีด่านเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลง การตรวจจับโอมิครอนจากแอฟริกา ก็เพราะถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวแล้วส่งมาเป็นระยะ ประเทศไทยต้องทำต่อไปอีกระยะ แต่ที่จะตรวจ 2-3 พันต่อสัปดาห์อาจไม่จำเป็น

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า กรณีมาจากต่างประเทศอาจลดจำนวนลงได้ ไม่ได้ตรวจทุกรายแบบปัจจุบัน แต่สุ่มมาถอดรหัส หากมีอะไรแปลกก็อาจตรวจจับได้ และเราจะทำไบโอแบงค์เก็บตัวอย่างเพื่อเอามาตรวจสอบย้อนหลังได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน