บิ๊กตู่ ลั่นโควิด เข้ารักษาในระบบยูเซ็ปได้เหมือนเดิม ขู่รพ.รัฐ-เอกชน ห้ามปฏิเสธการรักษา ย้ำยึดหลักกฎหมายมนุษยธรรม หากเตียงเต็ม ต้องประสานส่งต่อให้เร็วที่สุด
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กถึงการประชุม ศบค.ว่า ความรุนแรงของโอมิครอน ยังถือว่ารุนแรงน้อยกว่าเดลต้า เป็นผลให้อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำกว่าคาดการณ์ และภาพรวมการครองเตียงผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ วันที่ 22 ก.พ.2565 ทั้งผู้ป่วยวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยหนัก (สีเหลือง) ต่ำกว่า 20% ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่หนักและเข้ารับการรักษาในระบบการกักตัวที่บ้าน (HI)และกักตัวในชุมชน (CI) ได้ ทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรง ได้เข้ารับการรักษาอย่างเต็มที่
นายกฯ กล่าวว่า ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการระบาด มีค่ารักษาและบริการรวมทุกสิทธิ์ 3,800 ล้านบาท แต่ในปี 2564 รัฐมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 97,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาผู้ป่วยโควิดของไทยได้รับการรักษาจนหายกลับบ้านได้ เป็นอัตรา 92% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีอัตรา 83%
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอในการปรับระบบการรักษาโรคโควิด-19 ให้เป็นการรักษาตามสิทธิ์นั้น ครม.ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนและสร้างการรับรู้ให้ทั่วถึงก่อน ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เป็นผู้ให้บริการ และผู้ป่วยที่จะเข้ารับบริการ โดยจะต้องไม่สร้างความสับสน ทุกอย่างต้องชัดเจนก่อนปฏิบัติจริง
“ขอย้ำว่าปัจจุบันโควิดยังคงเป็นโรคที่เข้ารับการรักษาในระบบยูเซ็ปได้เหมือนเดิม โดยโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ โดยเป็นไปตามหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรม หากเตียงเต็มจะต้องประสานงานเพื่อส่งต่อในระบบให้เร็วที่สุด” นายกฯ กล่าว
ล่าสุด สปสช.ได้เพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 รวมเป็น 3,000 คู่สาย เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงนี้ อีกทั้งเพิ่มช่องทางติดต่อผ่านไลน์ @NHSO โดยผู้ป่วย/ญาติ กรอกข้อมูลในทันที และคอยเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับในโอกาสแรกๆ
ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ทุกจังหวัดและทุกหน่วยงาน เตรียมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินและความพร้อมขยายศักยภาพโรงพยาบาลสนามได้ทันที่ที่จำเป็น อีกทั้งกำชับให้ยกระดับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีกิจกรรมการรวมกลุ่มคนจำนวนมากที่ไม่เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า การปรับมาตรการต่างๆ ของ ศบค. ทุกครั้งทุกมาตรการ มาจากหลักวิชาการ สถิติ แนวโน้ม และคำแนะนำของคณะแพทย์ที่ปรึกษา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคและบริบทของสังคมไทย ที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ โดยยึดเอาความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
ตนเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าของไทย รวมทั้งเชื่อว่าความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องชาวไทย จะทำให้ประเทศไทยเอาชนะสงครามโควิดในรอบนี้ ที่เชื่อว่าใกล้จะจบลงได้อีกครั้ง