เปิดไทม์ไลน์! แผน 4 เดือน สธ.เตรียมปลดโควิดออกจากการระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น ระยะแรกเริ่มวันที่ 12 มี.ค.

แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะยังพุ่งขึ้นสูงแตะหลักหมื่น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาแผน 4 เดือน หรือเรียกว่า 3 บวก 1 (4 ระยะ) คือ ปลดโรคโควิดออกจากการระบาดใหญ่เข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic approach) ที่หมายถึงโควิดจะไม่หายไปไหน แต่จะกลายเป็นโรคติดเชื้อตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่

  • ระยะที่ 1 เริ่มวันที่ 12 มี.ค. – ต้นเม.ย. เรียกว่า Combatting เป็นระยะต่อสู้ ที่ช่วงการระบาดขาขึ้นต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง โดยมีมาตรการต่าง ๆ และ การดำเนินการให้กักตัวลดลง
  • ระยะที่ 2 เดือนเม.ย. – พ.ค. เรียกว่า Plateau เป็นช่วงการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เส้นกราฟเป็นระนาบจนลดลงเรื่อย ๆ
  • ระยะที่ 3 เดือนปลาย พ.ค. – 30 มิ.ย. เรียกว่า Declining ช่วงการลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือระดับ 1,000-2,000 คนต่อวัน โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 0.1
  • ระยะ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไปลดระดับเป็นระยะหลังการระบาดใหญ่ เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาดเข้าสู่โรคประจำถิ่น

นพ.เกียรติภูมิ กล่าว “แผนดำเนินการทั้งหมดจะต้องการให้เกิดภายใน 4 เดือน โดยจะมีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการควบคุมโรค คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการรักษา คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับกฎหมายและสังคม ซึ่งต้องแก้กฎหมายประมาณ 9 ฉบับ อย่างสังคมจะมีลักษณะอย่างไร ปรับตัวอย่างไร ก็จะมีแนวทางออกมา เช่น COVID Free Setting ต้องยกเป็นมาตรฐาน เป็นต้น ซึ่งต้องรอรายละเอียดต่าง ๆ ออกมา”

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุเสริมว่า สำหรับการควบคุมอัตราการเสียชีวิตเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่น ต้องไม่เกิน 1 ในพันราย โดยปัจจุบันเฉลี่ย 0.19% จนถึง 0.2% แต่ถ้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องประมาณ 0.1% ปัจจุบันยังไม่ถึงเป้าที่กำหนด เพราะคนเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็น 608 ซึ่งต้องลดให้ได้ 0.1% ให้ได้ครึ่งหนึ่ง

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 ไปสู่โรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปยุโรป ทำให้ประเทศไทยมีการเตรียมมาตรการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับระดับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงทุกมิติ อาทิ การเดินทางเข้าประเทศไทยตามโปรแกรมเทสต์ แอนด์ โก (Test and Go) ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพ พร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางต่างชาติและคนไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ

ทั้งนี้ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการด้านต่างๆ มีมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าออกประเทศ, การเฝ้าระวังในประเทศ, การสอบสวนโรค, การบริหารจัดการวัคซีน, มาตรการป้องกันและควบคุมโรค, มาตรฐานการรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย, มาตรการทางกฎหมายและสังคม สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก มียารักษาพร้อม มีการเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว มีการให้ยาอย่างเหมาะสม เพื่อให้ดำรงชีวิตเป็นปกติภายใต้มาตรการป้องกันตนและเศรษฐกิจเดินหน้า

ที่สำคัญ การเตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันโรคเช่นเดิม ทั้งมาตรการ VUCA ประกอบด้วย V- Vaccine, U-Universal Prevention, C- Covid-19 free setting และ A- ATK ซึ่งทางสธ.จะพยายามทำให้ประชาชนมีความเข้าใจว่า หากทุกคนได้รับวัคซีนครบถ้วน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) จะลดความรุนแรงของโรคได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน