จุฬาฯ เผยข่าวดีวัคซีนโควิด ChulaCov19 สัญชาติไทย ผลิตล็อตแรกในประเทศแล้ว ยื่นขอ อย.อนุมัติทดสอบในคน หากผลดีจ่อขึ้นทะเบียน

เมื่อวันที่ 4 พ.ค.65 ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด “ChulaCov19” ชนิด mRNA สัญชาติไทย ว่า ภาพรวมถือว่าเป็นข่าวดี ซึ่งการพัฒนาระยะแรกเป็นการออกแบบวัคซีนและให้โรงงานในสหรัฐอเมริกาผลิตล็อตแรก มีข่าวดีว่า ผ่านการพิสูจน์ในอาสาสมัครระยะที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้วมีความปลอดภัย กระตุ้นภูมิได้สูงเป็นที่น่าพอใจ ขนาดที่เราเลือกเมื่อเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ที่อนุมัติใช้ในไทย เราได้ภูมิที่สูงกว่าชัดเจน

ส่วนระยะที่ 2 คือ การผลิตวัคซีนในประเทศ โดยบริษัท ไบโอเน็ตเอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานในไทย สามารถผลิตวัคซีนล็อตแรกเรียบร้อยแล้ว ผ่านการประกันคุณภาพแล้ว ทีมวิจัยได้ส่งเอกสาร ข้อมูลต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 และ 2 อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก อย. คาดว่าจะได้รับคำตอบเร็วๆ นี้ หากทดสอบได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ น่าจะขอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ภายในปลายปี 2565

“ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศเริ่มดีขึ้น แต่การพัฒนาวัคซีนไม่ได้หยุด เราอยากเห็นวัคซีนรุ่นที่ 1 ที่ผลิตโดยคนไทยที่ตอนนี้พัฒนากันอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีน mRNA ของจุฬาฯ วัคซีนใบยา และวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม

หากขึ้นทะเบียนได้ก่อน 1 ชนิด หรือทั้งหมดจะยิ่งดี โดยวัคซีนรุ่นที่ 1 ตามขั้นตอนควรได้รับการขึ้นทะเบียนก่อน ผ่านการพิสูจน์ว่าปลอดภัย ระหว่างขอขึ้นทะเบียนก็มีการพัฒนารุ่นที่ 2 เพื่อป้องกันเชื้อโอมิครอนไปพร้อมกัน เพื่อรอขึ้นทะเบียนลำดับต่อไป” ศ.นพ.เกียรติกล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยีของเราเอง ตั้งแต่คิดค้น ออกแบบ ทดสอบ และผลิตได้ในโรงงานในประเทศ ทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้ หากเกิดการระบาดของโควิดกลับมาใหม่ ไม่ว่าสายพันธุ์ไหน หรือเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนาวัคซีนได้เองในระยะเวลาที่เร็วขึ้น เพราะเราพัฒนาได้ครบห่วงโซ่ด้วยตัวเราเอง

“ถ้าวัคซีนไทยขึ้นทะเบียนได้ภายในปีนี้ ก็ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุน แต่การผลิตวัคซีนต้องทำเป็นขั้นตอน พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จุดประสงค์หลักของการพัฒนาวัคซีนของไทยเพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ ช่วยกระจายวัคซีนให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เร็วขึ้น

หากเกิดโรคระบาดและการที่เรามีเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น เราจะทำได้เร็วขึ้น ทั้งคิดค้น ออกแบบ ผลิตและทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ภายในไม่เกิน 6 เดือน ไม่ใช่ใช้เวลานานปีกว่าเหมือนตอนนี้ เพราะห่วงโซ่ยังไม่ครบวงจร ” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน