สธ.เผย 3 สัญญาณเตือนปรับเพิ่มมาตรการโควิด พบ 2 สัปดาห์ ป่วยหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง ห่วงหยุดยาวเสี่ยงแพร่ไป ตจว.

วันที่ 11 ก.ค.65 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 และการท่องเที่ยวช่วงวันหยุดให้ปลอดภัย ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 หลัง “โอมิครอน” พีกมากช่วงหลังปีใหม่และลดลงมาต่อเนื่อง ก็มีการระบาดเป็นระลอกเล็ก (Small Wave) เหมือนกันทั้งทั่วโลก เอเชีย รวมถึงไทย ส่วนการเสียชีวิตยังไม่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากฉีดวัคซีนได้จำนวนมาก สำหรับประเทศไทย จากการติดตามผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ พบว่าเพิ่มขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้ โดยปอดอักเสบเพิ่มจาก 638 ราย เป็น 786 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นจาก 290 ราย เป็น 349 ราย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ แต่การเพิ่มขึ้นไมได้กระจายทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นในบางจังหวัดที่มีการติดเชื้อมาก

ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 24 ราย การเสียชีวิตแต่ละวันมีขึ้นลงบ้าง แต่ภาพรวมยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ส่วนการวิเคราะห์ผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 3-9 ก.ค. จำนวน 132 ราย เป็นกลุ่ม 608 ถึง 128 ราย หรือ 97% พบว่าครึ่งหนึ่งหรือ 64 ราย ไม่รับวัคซีน คิดเป็น 49% อีก 5 รายหรือ 4% ได้รับเพียงเข็มเดียว ส่วน 31 ราย คิดเป็น 23% รับครบ 2 เข็มแต่ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น ขณะที่ฉีดเข็มกระตุ้นแล้วมี 25 ราย แต่ฉีดนานเกิน 3 เดือน คิดเป็น 19% โรคประจำตัวที่เสี่ยงสูงเสียชีวิต คือ ไตเรื้อรัง มะเร็ง อ้วน หลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ กทม.และปริมณฑลเสียชีวิตมากที่สุด ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและตะวันออก ส่วนภาคเหนือและภาคใต้การเสียชีวิตไม่มาก

“ขอย้ำว่าช่วงนี้มีการระบาดมากขึ้นของ BA.4/BA.5 มีโอกาสสูงที่คนติดเชื้อแล้ว อาจติดซ้ำได้ ดังนั้น ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ และผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย ควรมารับเข็มกระตุ้นทุกๆ 3-4 เดือน เพราะหากเกินเวลาไปแล้วภูมิคุ้มกันอาจมาต่อสู้ไม่ทัน อาจทำให้ป่วยหนักขึ้นได้” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ.วันนี้มีรายใหม่ 1,811 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย ตรวจ ATK ผลสองขีดแล้วลงทะเบียนการรักษา ทั้งโทรประสานขอยาหรือไป รพ.แบบผู้ป่วยนอกรับยากลับไปรับประทานที่บ้าน ตัวเลขลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.07 แสนราย เหลือ 149,537 ราย อย่างไรก็ตาม ยังคงระดับการเตือนภัยระดับ 2 แม้บางจังหวัดเริ่มพบติดเชื้อเพิ่มขึ้นแล้ว เนื่องจากช่วงนี้หยุดยาวหลายวัน การเดินทางท่องเที่ยวจำเป็นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การป้องกันโรคส่วนบุคคลต้องทำต่อเนื่อง

“การติดเชื้อจะเกิดขึ้นใน กทม. ปริมณฑล จังหวัดใหญ่ก่อน แล้วค่อยไปจังหวัดเล็ก จากเมืองแล้วไปชนบท ทำให้กลุ่ม กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว จะพบผู้ปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจขึ้นก่อน ดังนั้น ช่วงวันหยุดยาวที่มีหลายช่วงในเดือนนี้ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้แพร่ไปต่างจังหวัดเร็วขึ้น จึงต้องช่วยกันลดความเสี่ยง เพราะถ้าติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็ว ก็จะมีปอดอักเสบขึ้นเร็วตามด้วย อาจจะกระทบกับเตียงหรือยาในการรักษา จึงต้องช่วยกันชะลอ คาดการณ์ว่าจะมาพีกในช่วงสัปดาห์ที่ 33-34” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า หลายจังหวัดที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีเข้ามารักษาใน รพ.เพิ่มขึ้น ทำให้ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งขณะนี้เราคืนเตียงโควิดไปรักษาโรคอื่นที่มีอาการหนัก เช่น มะเร็ง โรคไต ฯลฯ ทำให้สัดส่วนผู้ป่วยโควิดอาการหนักครองเตียงเพิ่มขึ้น โดยพบอัตราครองเตียงเกิน 25% ประมาณ 6 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี 42.6% กทม. 38.2% ชัยภูมิ 30.5% ปทุมธานี 29.3% สมุทรปราการ 29.8% และนครสวรรค์ 26%

ซึ่งจังหวัดที่อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้นเยอะอาจต้องปรับการบริหารจัดการเตียงให้เพียงพอ ถือเป็นสัญญาณบอกชัดว่า ติดเชื้อเยอะในกทม.และปริมณฑล เราต้องช่วยกันลดการติดเชื้อลงให้มากที่สุด ส่วนสัญญาณเตือนระดับไหนที่ต้องแจ้งเตือนและเพิ่มมาตรการ คือ 1.ผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ.รายใหม่เกินวันละ 4 พันราย อาจต้องให้ใส่หน้ากาก 100% หรือเว้นระยะห่างมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1,811 ราย ยังห่างจากเกณฑ์พอสมควร 2.ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 รายต่อวัน อาจต้องปรับมาตรการการรักษา ให้ยาเร็วขึ้น และ 3.ผู้เสียชีวิตเกิน 40 รายต่อวัน ถ้าเกินก็ต้องมีมาตรการเพิ่มเติม

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า จังหวัดที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60% อัตราการเสียชีวิตจากโควิดไม่สูง ส่วนจังหวัดที่ครอบคลุมน้อยอาจพบการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ การลดป่วยการหนักหลังจากช่วงหยุดยาว สธ.ขอความร่วมมือแนะนำประชาชนช่วยกัน ในการป้องกันตนเอง โดยใช้มาตรการ 2U คือ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล และ uNIVERSAL vACCINATION การฉีดวัคซีน โดยย้ำว่ายังสามารถทำกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มได้ แต่อย่าใกล้ชิดกันจนเกินไป ให้เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา

โดยเฉพาะเวลาใช้บริการขนส่งสาธารณะ เมื่ออยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง 608 อย่างกิจกรรมทางศาสนาช่วงหยุดยาวนี้ก็ขอให้นั่งสวดมนต์ห่างๆ กัน ตรงไหนแออัดเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง โดยกลุ่ม 608 หากมีอาการป่วยผลตรวจ ATK เป็นบวก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับยา บางคนอาจลงปอดโดยไม่ทราบ จะช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนักได้ และเพิ่มภูมิคุ้มกันตัวเราไว้ก่อนด้วยการไปฉีดวัคซีน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ติดตามอาการ 10 วัน สวมหน้ากากเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น เพื่อลดความเสี่ยงแพร่โรค

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่ออีกว่า ส่วน 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบการระบาดในโรงเรียน และมีการแพร่ต่อครอบครัวหรือชุมชน มาจากการมีกิจกรรมร่วมกันโดยไม่สวมหน้ากาก ทั้งระหว่างเรียน กินข้าว และหลังเลิกเรียน ซึ่งก่อนเปิดเรียน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมาตรการกำหนดขั้นตอนแผนเผชิญเหตุต้องทำอย่างไรบ้าง ก็ขอให้ทำตามแผน ซึ่งหลายโรงเรียนควบคุมการระบาดได้ดี บางแห่งอาจเปลี่ยนเรียนออนไซต์เป็นออนไลน์ บางโรงเรียนปิดรายชั้น รายห้อง ขึ้นกับความรุนแรงสถานการณ์การระบาดว่าพบมากน้อยแค่ไหน และย้ำว่าขอให้ช่วยกันป้องกันกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัวด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน