สธ.แจงตายคาบ้านเพราะโรคอื่น แต่พบโควิดร่วม พบ 4 จังหวัดอัตราครองเตียงสูง เหลือหารือกทม.เหตุมีรพ.หลายสังกัด ต้องเคลียร์ระบบส่งต่อให้ชัด

สธ.เผย “โควิด” ปอดอักเสบ ใส่ท่อ เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย พบ 4 จังหวัดอัตราครองเตียงสูง แต่ขยายเตียงได้ “นนทบุรี-สมุทรปราการ-ปทุมธานี” เตรียมพร้อมแล้ว เหลือหารือ กทม. เหตุมี รพ.หลายสังกัด ต้องเคลียร์ระบบส่งต่อให้ชัด ส่วนกรณีตายที่บ้านส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. เป็นเคสตายจากโรคอื่นแต่มีโควิดร่วม

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า ขณะนี้หลายประเทศไม่ได้รายงานผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายวัน แต่จากการติดตามตัวเลขการติดเชื้อทั่วโลกยังสูง โดยเฉพาะเพิ่มขึ้นยุโรปและอเมริกาซึ่งเริ่มทรงตัวแล้ว แต่ผู้เสียชีวิตไม่ได้มากขึ้น สำหรับประเทศไทยเราใช้ข้อมูลตัวเลขหลายตัวในการประเมินสถานการณ์ คือ ผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษา รพ.วันนี้มี 1,814 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 794 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 369 ราย เสียชีวิต 17 ราย และผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ Home Isolation (HI) ซึ่งสัปดาห์ที่ 28 มีจำนวน 143,827 คน

“ขณะนี้ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตดูเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยังไม่ผิดสังเกต แต่ต้องติดตามหลังช่วงหยุดยาวสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เนื่องจากผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตยังเป็น กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ แต่ช่วงหยุดยาวคนใน กทม.และปริมณฑล กลับภูมิลำเนา อาจมีเหตุการณ์ติดเชื้อต่างจังหวัดได้ จึงกำลังจับตาสถานการณ์ และช่วงนี้นักเรียนเปิดเทอมอีกครั้ง จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่เราให้ความสำคัญ คือ ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต ซึ่งผู้เสียชีวิตระลอกโอมิครอน ช่วงวันที่ 10-16 ก.ค. 2565 เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และคนท้อง ถึง 98% โดยพบว่าเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมากที่สุด ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ ซึ่งระยะหลังพบผู้ที่รับเข็มกระตุ้นในกลุ่มโรคประจำตัวเสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่เป็นการฉีดมาแล้วเกิน 3 เดือน ซึ่งการรับวัคซีนมานานภูมิจะลดลง คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจึงแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปควรห่างทุก 3-4 เดือน และขอให้ฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด

“อัตราตายโควิดต่อแสนคน นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 อัตราเสียชีวิตสูงสุดช่วงกลางๆ ถึงท้ายปี 2564 ซึ่งเป็นการระบาดของเชื้อเดลตา ส่วนช่วง เม.ย. 2565 เป็นโอมิครอนอัตราเสียชีวิตน้อยลง ซึ่งล่าสุด BA.4/ BA.5 การเสียชีวิตน้อยลง บ่งบอกว่าสายพันธุ์รุนแรงน้อยกว่าเดลตา ขณะที่การฉีดวัคซีนในคนไทยภาพรวมมากกว่า 140 ล้านโดส ทำให้มีภูมิระดับหนึ่ง จึงลดอัตราเสียชีวิตได้ดี โดยการเข้าถึงการรักษาในกลุ่มเสี่ยงจะเป็นประเด็นสำคัญในการช่วยลดการเสียชีวิตอย่างมากในระยะต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

สำหรับอัตราการครองเตียงผู้ป่วยโควิดระดับ 2-3 ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับสีเขียว คือ ยังรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้ แต่ 4 จังหวัดมีการครองเตียงผู้ป่วยหนักเริ่มตึงตัว คือ กทม. 47.3% นนทบุรี 49.7% สมุทรปราการ 31.8% และปทุมธานี 36.5% เนื่องจากคนไข้เพิ่มขึ้น และมีการคืนเตียงโควิดเอาไปใช้ดูแลป่วยทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงก็ขยับขยายเตียงได้ จึงให้ความมั่นใจว่าการดูแลป่วยหนักยังดูแลได้ วันนี้จึงเชิญ กทม.มาหารือกัน ส่วนต่างจังหวัดท่านปลัด สธ.ได้สั่งการไปแล้ว ซึ่งทั้งนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สามารถจัดการรองรับได้ เตรียมพร้อมแล้ว แต่ยังไม่มีคนไข้มากขึ้นจนต้องเพิ่มเตียง

สรุปหลังเทศกาลหยุดยาวกลับมาแล้วมาตรการเป็นอย่างไร ย้ำว่าความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ คือ 2U ได้แก่ Universal Prevention มาตรการป้องกันส่วนบุคคล เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการคล้ายหวัด ซึ่งโอมิครอน BA.4/BA.5 จุดเด่น คือ เจ็บคอ ระคายคอ น้ำมูก เนื่องจากฉีดวัคซีนครบ อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดเช่นนี้ หากมีอาการจึงอย่านิ่งนอนใจ ให้ตรวจ ATK ส่วนคนดูแลผู้ป่วยหรือดูแลผู้สูงอายุอาจตรวจสม่ำเสมอได้ และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้คนไปรับเพิ่มขึ้น จากไม่ถึงหมื่นรายต่อวันก็เพิ่มมาเป็น 1-2 หมื่นรายต่อวัน นอกจากนี้ หลายหน่วยของเทศบาล อบต. ยังจัดทีมลงไปฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุตามบ้าน ส่วนกรณีการสอบถามเข้ามาว่า หากหน่วยงานต่างๆ พบคนติดเชื้อโควิดนั้น ถ้าบุคลากรติดเชื้อมีอาการน้อย สามารถแยกกักรักษาที่บ้านแบบ 7+3 คือ แยกกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย และเฝ้าระวังสังเกตอาการอีก 3 วัน ซึ่ง 3 วันนี้ควรงดเว้นพบผู้อื่น สวมหน้ากากตลอดเวลา

ถามว่าการครองเตียงจะไม่มากเหมือนสมัยเดลตาใช่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า หากดูอัตราตายไม่ได้เยอะ ซึ่งมาจากการฉีดวัคซีนเยอะ ซึ่งประเทศไทยฉีดบูสเตอร์ระดับประเทศได้ค่อนข้างเร็ว เราประกาศก่อนองค์การอนามัยโลก และฉีดเข็ม 3 เข็ม 4 ทุก 3-4 เดือนเราก็ประกาศเป็นประเทศแรกๆ และสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่ BA.4/BA.5 ดูแล้วอาจจะรุนแรงกว่า BA.2 เล็กน้อย

ถามถึงกรณีมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ กทม. จึงต้องหารือพูดคุยกัน ก็ต้องเห็นใจ กทม. เพราะ รพ.มีทั้ง รพ.เอกชนที่มีมากที่สุดในพื้นที่ รพ.มหาวิทยาลัย รพ.สังกัด กทม. รพ.รัฐอื่นๆ เช่น ตำรวจ ทหาร การบูรณาการจัดการถ้าไม่คุยให้ดีจะมีปัญหามาก ซึ่ง กทม.ไม่มีระบบส่งต่อผู้ป่วยเหมือน สธ. ที่ปลัด สธ.สั่งการทีเดียวก็จัดการได้หมด ถ้าไม่หารือใกล้ชิดก็คงลำบาก สธ.จึงเชิญให้มาหารือกันว่าจะจัดระบบอย่างไร มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาอย่างนี้ เท่าที่ตามดูคนไข้ไป รพ.เอกชน แม้จะมีกฎหมายดูแลแต่เป็นลักษณะตามทีหลัง จึงต้องเคลียร์ให้ชัดเจนว่า ถ้าไป รพ.หนึ่งแล้วไม่พร้อมจะรับ จะไป รพ.ไหนต่อ เป็นระบบที่ต้องพูดคุยอย่างใกล้ชิด

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า กรณีรายงานเสียชีวิตตามบ้านมีรายงานเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตที่มีโรคโควิดร่วมด้วย (Died with COVID) มีทั้งที่ตรวจเจอโควิดอยู่ก่อน หรือมาตรวจเจอว่ามีโควิดร่วมด้วยในภายหลัง แต่สาเหตุที่เสียชีวิตเป็นโรคนั้น จากโรคที่เป็นอยู่ก่อน ไม่ใช่เสียชีวิตจากโควิด เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย หรือผู้ป่วยที่อยู่ป่วยต้องรับการรักษาแบบประคับประคอง ให้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายกับครอบครัวมากกว่า ทั้งนี้กรณีครอบครัวที่ต้องดูแลก็ให้สวมหน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนซึ่งจะสามารถป้องกันได้ หลังจากนั้นก็เฝ้าระวังตัวเอง 7 วัน ส่วนกรณีที่เสียชีวิตจากโควิดจริงๆ มีเล็กน้อย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน