สรุปผลหารือ ‘สธ.-กทม.’ ไม่เลิกหนังกลางแปลง-ดนตรีในสวน เข้ม ATK ผู้ค้าสวมแมสก์ หากมีความเสี่ยงมากจะปรับลดหรืองดทันที กทม.ขอสำรองยาฟาวิเพิ่มจาก 7 วันเป็น 10 วัน

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักงานการแพทย์ กทม. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 (ศปค.สธ.) ครั้งที่ 5/2565

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การประชุม ศปค.สธ.ครั้งสุดท้ายคือ เม.ย. 2565 ล่วงมา 3 เดือนแล้ว สาเหตุการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากโรคโควิด 19 บรรเทาลงจนถึงปลาย มิ.ย. แต่ต้น ก.ค.เคสเพิ่มขึ้น เราเห็นปัญหามากกว่าครึ่งติดเชื้อใน กทม. ประกอบกับช่วงมิ.ย. ทาง ศบค.ชุดใหญ่ได้ยกเลิก ศบค.กทม.ทำให้องค์ประกอบ เช่น คณะอนุกรรมการต่างๆ หมดวาระไปด้วย โดยคำสั่งนั้นเป็นมอบคืนพื้นที่การดูแลทั้งหมดไปอยู่ที่ กทม. ซึ่งในพื้นที่ กทม. ไม่มี รพ.สังกัดสำนักงานปลัด สธ. มีเพียงของกรมการแพทย์ ดังนั้น กำลังหลักในการดูแลจึงอยู่ที่ กทม. แต่เราทำงานร่วมกัน รวมถึง รพ.เอกชน ร.ร.แพทย์ ซึ่ง สธ.ต้องช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้ป่วยหนัก

“สำหรับเนื้อหาการประชุม คือ การดูแลใน กทม. ทั้งเรื่องป้องกันโรค เรื่องวัคซีน ซึ่งแม้ กทม.จะฉีดเกิน 100% แต่มีติดเชื้อก็หาสาเหตุเกิดจากอะไร มาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรค การจัดกิจกรรมต่างๆ ในกทม. ว่า กทม.จะมีวิธีดำเนินการอย่างไร ส่วนเรื่องการรักษา เตียงและยา ซึ่งเราเช็กเตียงกันว่าเป็นอย่างไร ซึ่งรายงานออกมาก็ใกล้เคียงกัน อยู่ในระดับที่ดูแลได้ โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยระดับ 2-3 ยังมีการใช้ไม่มาก ที่ใช้มากคือเตียงระดับ 1 ซึ่งมากถึง 98% แต่ตรงนี้สามารถขยายได้ เตียงยังเพียงพอใน กทม.” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สธ.และ กทม.จะทำแผนเผชิญเหตุร่วมกันว่า ถ้ามีการระบาด มีผู้ป่วยอยู่ในระบบประมาณนี้ กทม.และ สธ.จะทำอะไรอย่างไรบ้าง บูรณาการการดูแลด้วยกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ที่มีผู้ว่าราชการ กทม.เป็นประธาน ส่วนเรื่องยา กทม.ขอให้ สธ.สนับสนุนยาอย่างต่อเนื่องเพียงพอ ตอนนี้มีสำรองประมาณ 7 วัน กทม.กลัวว่าจะไม่พอ เราก็จะดูปริมาณยาที่เรามี ถ้ามีมากก็ให้มาก ถ้าไม่มากบางทีอาจเกิดภาวะขาดแคลนก้ต้องช่วยกันบริหารจัดการให้เหมาะสม เนื่องจากยาไม่ได้เหลือเฟือ เราซื้อยาจากต่างประเทศ มาเป็นชุดๆ ไม่ได้มาทุกวัน ก็ต้องใช้เวลาในการผลิต เราตกลงร่วมกันว่าจะบริหารอย่างไรให้ใ รพ.กทม. รพ.เอกชน และ ร.ร.แพทย์มียาใช้อย่างเหมาะสมต่อไป และมีการปรับให้เข้าถึงยามากขึ้น

พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า การหารือมีข้อห่วงใยบางเรื่อง คือ 1.เตียงพอหรือไม่ ขณะนี้ยังพอแต่ทำอย่างไรให้บริหารจัดการความร่วมมือไหลรื่นไร้รอยต่อ เชื่อมโยงการส่งต่อ เนื่องจากเราไม่มีศูนย์บริหารจัดการเตียงกลาง เนื่องจากการยกเลิกคำสั่ง ศบค.กทม. ถ้าจำเป็นเราจะใช้ศูนย์เอราวัณ กทม.เป็นตัวจ่ายงาน ผ่านการประสานกับ รพ.หลักใน 6 โซน 2.วัคซีน ซึ่งเราฉีดเกิน 100% และเข็มสามเกิน 80% แต่ กทม.เป็นศูนย์กลาง มีคนต่างจังหวัดเข้ามาแล้วกลับ แต่เราพร้อมให้บริการ ทุกจุดพร้อมให้บริการ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.สั่งการให้เพิ่มเติมบริการบูสเตอร์วัคซีนมากขึ้น ศูนย์บริการสธารณสุขสุขจะขยายบริการในวันเสาร์ ทั้งแจกยาเมื่อป่วยติดเชื้อ และให้รับวัคซีนด้วยถ้าต้องการ รวมถึงทำเชิงรุกเข้าชุมชนในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง มีการประสานนัดหมายไปฉีดถึงบ้าน

3.การจัดกิจกรรมของ กทม.จะเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลหรือไม่ เรียนว่า กทม.ดำเนินการตามคำสั่ง ศบค.เมื่อปลาย มิ.ย. มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 46 บอกให้ปรับมาตรการให้ผ่อนคลาย สมดุลกิจกรรมเฝ้าระวังที่คุมเข้มหลายอย่างกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ กิจกรรมที่ดำเนนการก็เป็นไปตามคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นหนังกลางแปลง ดนตรีในสวน จะมีมาตรการควบคุมในระดับหนึ่ง ซึ่งในส่วนของผู้ค้าผู้ขาย ถ้าไม่มีผลตรวจ ATK จะสนับสนุนการตรวจเชื้อ และผู้มาร่วมงานถ้าไม่มีหน้ากากก็จะแจกหน้ากากก่อนเข้าร่วมงาน และขอให้เน้นการเว้นระยะห่างด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจากการติดตามยังไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่ๆ จากกลุ่มนี้ หากมีข้อมูลหรือมีความเสี่ยงใดๆ ทางฝ่ายเลขาฯ ก็พร้อมพิจารณาปรับลดหรืองดไปเป็นไปตามแนวทาง

และ 4.เรื่องยา สัปดาห์ที่ผ่านมาห่วงว่ายาเพียงพอหรือไม่ แต่ 2 วันนี้ยามาตามนัด ต้องขอบคุณ สธ.ซึ่งเราก็จะขอเพิ่ม เนื่องจากเรามีคนไข้เยอะ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอสำรองยามากกว่าเดิมจาก 7 วัน เป็น 10 วัน ซึ่งขณะนี้มีการปรับให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็กต่ำกว่า 18 ปี และให้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาหลักมากขึ้น เราก็จะขอฟาวิพิราเวียร์มากขึ้น ซึ่งแต่ละวันเฉพาะศูนย์บริการสาธารณสุขและ รพ.สังกัด กทม. มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เกือบ 1 แสนเม็ด ทั้งนี้ เราพยายามใช้ทั้ง 2 ตัวตามข้อบ่งชี้ ย้ำว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้รับยา จะได้ตามจำเป็นตามแนวทาง หากจำเป็นต้องได้จะมียาให้แน่นอน และขอให้มีการช่วยข้ามกันระหว่าง รพ. ทั้งหมดนี้ถ้าเราทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ง่ายสะดวก ซึ่งถ้าทำให้ รพ.เอกชน หรือร้านขายยา สามารถมียาสำหรับคนซัพพอร์ตเรื่องนี้ได้ ก็จะทำให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น ช่วยการรักษาและควบคุมโรคอีกส่วนหนึ่ง

“หลังจากมีการยกเลิก ศบค.กทม. ก็จะใช้กลไก พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.มีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน ถ้าไม่เพียงพอ ตั้งใว่าจะเสนอในการประชุมเร็วๆ นี้ อยากให้มีกรรมการชุดหนึ่งมาดูเรื้องการรักษาด้วย กทม.ก็จะขอ สธ.ขอรับการสนับสนุนกรรมการที่มาช่วยเราด้านวิชาการ ด้านซัพพลาย ฯลฯ ทดแทนกรรมการชุดเดิมที่ยกเลิกไป” พญ.วันทนีย์กล่าว

ถามว่าการประสานบูรณาการการส่งต่อโดยศูนย์เอราวัณจะมีรูปแบบดำเนินการอย่างไร นพ.สุขสันต์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนร่วมมือกันในการประเมิน หากคิดว่าตัวเองไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ถ้าต้องการรับยาก็ติดต่อศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ใกล้บ้าน หรือไป รพ.ตามสิทธิใกล้บ้าน สามารถติดต่อโดยตรงหรือดาวน์โหลดคิวอาร์โคด แอปพลิเคชัน แต่ละ รพ.จะมีอยู่ จะมีการจัดส่งยาถึงบ้านหรือนัดไปรับยา แต่ถ้าคิดว่าอาการสีเหลือง มีอาการที่อยากจะนอน รพ. หรือคิดว่าตนเองต้องนอน รพ. ก็ไปติดต่อ รพ.ได้เลย แพทย์ก็จะพิจารณา แต่ถ้าคิดว่าอาการสีแดง ไอ หอบเหนื่อย ไม่สามารถเดินทางได้ มีความรุนแรงก็ประสานศูนย์เอราวัณตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณจะส่งทีมไปประเมิน ถ้าอาการเป็นอย่างที่แจ้งก็จะนำทีมนำรถรับไปที่ รพ.ที่จะบริหารจัดการเรื่องเตียงให้ไปถึงจะมีเตียงรองรับ แต่ต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการ

“การประเมินหลังเอราวัณได้รับแจ้ง ที่ผ่านมาเราบริหารจัดการเตียงได้ภายใน 1 ชั่วโมง ตามตัวชี้วัด เราทำมาได้ตลอด ขอให้รีบแจ้งมา ที่เห็นเคสดรามาหลายๆ เคส บางเคสไม่ได้แจ้งทางเอราวัณมา หรือบางกรณีก็หลุดรอด วันหนึ่งเอราวัณขนย้ายผู้ป่วยวันละ 50-100ราย ถ้ามีหลุดดรามาสัปดาห์ละไม่ถึง 1-2 เคส ก็ต้องยอมรับว่ามีบ้างก็จะหาทางปรับปรุงต่อไป แต่ถ้าแจ้งมาจะรีบดำเนินการให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง” นพ.สุขสันต์กล่าว

ถามว่าจะบูรณาการเอกชนอย่างไรให้เตียงภาครัฐเต็ม นพ.สุขสันต์กล่าวว่า เราเคยมีการประสานตั้งแต่เดลตา ทั้งภาครัฐ โรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน รวมถึงของ สธ. ซึ่งโดยหลักแล้วอาการสีแดงใช้สิทธิยูเซป รพ.เอกชนสามารถรับได้ ถ้ามีความจำเป็นเราจะพยายามจัดการเตียงภาครัฐก่อน แต่ถ้าไม่พอจะขอความร่วมมือเอกชน ซึ่งก็มีหลากหลายที่มาช่วย ประสบการณ์ทำงานร่วมกันมีไม่น่าเป็นอุปสรรค ซึ่งขณะนี้อัตราการครองเตียงสีเหลืองใน กทม.อยู่ที่ 48% ยังไม่รวมที่จะบูรณาการกับเอกชน

ถามว่าจะยังมีการเปิด CI เพิ่มเติมหรือไม่ พญ.วันทนีย์กล่าวว่า กทม.พร้อมเปิดเรามีการเตรียมประมาณ 5 แห่ง 320 เตียง แต่ยังมีเตียง รพ.สนามเหลืออยู่อีกมาก คน กทม.ไม่นิยมพักใน รพ.สนาม ไม่เหมือนช่วงแรกที่ไม่มีที่ไป แต่โชคดีที่ BA.4/BA.5 อาการส่วนใหญ่เป็นสีเขียว ถ้าได้ยาแล้วอยู่บ้านกักตัวจะดีกว่า วันนี้ขอเน้นย้ำ 5+5 อยู่ รพ.รับยาแล้วต้อกลับไปกักตัวต่อที่บ้านให้ครบ 10 วัน บางคนตรวจ ATK ตอนมา 2 ขีด เข้ามาแอดมิทรับยา แล้วแอบตรวจตัวเองอีกครั้งเหลือขีดเดียว คิดว่าตัวเองหายขีดเดียวมที่ออกไปน่าเป็นห่วง อาจตัวแพร่สำคัญที่ทำให้เราควบคุมไม่ดีเท่าที่ควร

ถามถึงแผนเผชิญเหตุที่จะทำร่วมกันวางไว้อย่างไรบ้าง พญ.วันทนีย์กล่าวว่า อันแรกเราเน้นการจัดการเตียงก่อน คงไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนไข้ในภาพใหญ่ จะเน้นเตียงแดงเตียงเหลือ ซึ่งสำนักการแพทย์และกรมการแพทย์จะหารือกัน ถ้าเตียงเกือบเต็ม เช่น ครองเตียง 80% มาแล้ว 2-3 วัน แนวโน้มมีเคสมากขึ้นอาจต้องขยายวอร์ด เตียง แต่รายละเอียดขอให้หารือก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ามาพูดคุยกับผู้บริหาร กทม.อย่างสนิทสนม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน