โควิด : กรมควบคุมโรคแจง “ลองโควิด” ไม่ได้เกิดทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ ส่วน Rebound มักพบกลับมาบวกใหม่ หลังหายไม่เกิน 1 เดือน

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงภาวะลองโควิด ว่าเท่าที่ติดตามดูองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้เขียนนิยามชัดเจนถึงภาวะลองโควิด แต่เป็นศัพท์ที่เราใช้กันและคุ้นเคย คือภาวะที่มีอาการป่วยหรือไม่สบายหลังจากเป็นและหายโควิด กลไกการเกิดเนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายระบบ อาการที่ไม่ค่อยเจาะจงกับอาการต่าง ๆ

ทั่วโลกพยายามรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ แต่เราพบว่าคนไข้โควิดที่มีอาการหนัก หลังหายแล้วประมาณ 2-3 เดือน จะมีอาการผิดปกติไม่หายขาดหรือหายสนิท หรือมีอาการระบบต่าง ๆ ตามมา ซึ่งเรากำลังจับตาอย่างใกล้ชิด แต่เท่าที่ดูจากคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว อาการไม่รุนแรงและส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการแทรกซ้อนอะไร

หลายคนพยายามออกข่าวว่าน่ากลัว แต่ความเป็นจริงเป็นเพียงสิ่งที่ต้องระวัง แต่ไม่ถึงขั้นว่าทุกคนต้องเป็น โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนครบ ร่างกายแข็งแรง พอหายจากโควิดจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาจมีอาการไอบ้าง เหนื่อยบ้าง นอนไม่หลับช่วงระยะหนึ่งจากนั้นจะดีขึ้น

“รายที่เป็นผู้สูงอายุและอาการรุนแรง เราต้องระมัดระวัง เพราะคนเหล่านี้ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่เดิม และเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนก็อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ การรักษายังไม่มียารักษาลองโควิดเฉพาะเจาะจง จะใช้รักษาตามอาการ แต่ภาวะนี้ความรู้ความเข้าใจในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก ก็ต้องติดตามข้อมูลต่อเนื่องและนำมาปรับปรุงระบบต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่าภาวะลองโควิดจะค่อย ๆ หายไปเองหรือต้องรักษาประคับประคองไปเรื่อย ๆ นพ.โอภาส กล่าวว่า เนื่องจากภาวะลองโควิดเป็นภาวะใหม่ เรากำลังตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่าเราจำเป็นต้องติดตามแค่ไหนหรือมีการรักษาอะไรใหม่ ๆ หรือไม่ ก็คงไม่ต้องกังวลเกินไป ท่านใดที่เป็นโควิดหายแล้วหากมีอาการผิดปกติก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและดูแลรักษาต่อไป

เมื่อถามถึงภาวะ Rebound ที่หายจากโควิดแล้วกลับมาพบบวกใหม่ มีข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า มีข้อมูลเพิ่มขึ้นว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือร่างกายอ่อนแอ รับยาต้านไวรัสครบคอร์สไปแล้ว พอหยุดไปสักพักหนึ่งก็กลับมาติดใหม่ แต่ส่วนใหญ่พบว่า Rebound อาการไม่มากนักจะน้อยกว่าครั้งแรก แต่คงต้องติดตามข้อมูลต่อไป

เมื่อถามว่าภาวะ Rebound ต้องรับยาต้านไวรัสต่ออีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องดูเป็นราย ๆ ไป เพราะแต่ละรายอาการไม่เหมือนกัน บางคนแค่กลับมาตรวจเจอเชื้อ บางคนมีอาการแต่ส่วนใหญ่อาการน้อย ส่วนการสังเกตภาวะ Rebound ส่วนใหญ่คือกลับมามีไข้มีอาการเหมือนไม่สบาย

หลังจากหายจากโควิดแล้วจะมีการตรวจพบเชื้ออีกครั้งหนึ่ง บางรายมาพบหลังหายประมาณ 1-2 สัปดาห์บางรายก็ 1 เดือน แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเกิน 1 เดือน ซึ่งเกิน 1 เดือนจะแยกยากว่าติดเชื้อใหม่หรือเป็น Rebound

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรค โควิด-19 หลังวันหยุดช่วงวันแม่แห่งชาติ ว่าช่วงวันหยุด 3 วันที่ผ่านมา ขอให้ผู้สูงอายุที่มีการร่วมกิจกรรม เจอลูกหลานที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่ภูมิลำเนากินข้าวขอพร ซึ่งผู้สูงอายุอาจไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ หรือไม่ได้ฉีดบูสเตอร์โดส ขอให้ประเมินอาการ เพราะระยะฟักตัวของโรคก็สั้นลง 2-3 วัน

ดังนั้นหากลูกหลานพบผลบวกก็ต้องรีบส่งข่าวให้ทราบ และหากมีการเจ็บป่วย เช่น ไข้ อาการทางเดินหายใจสงสัย ให้รีบตรวจเพื่อดูแลในกลุ่มสูงอายุจะได้ลดความเสี่ยงในการมีอาการหนัก การรักษาก็มียาที่ได้ผลดี ส่วนใหญ่คุณแม่ที่กลับไปเยี่ยมก็อาจเป็นกลุ่ม 608 แล้ว ก็จะป้องกันอาการรุนแรง

เมื่อถามถึงกรณีนักวิชาการระบุการติดเชื้อโควิดแล้วแยกตัว 5-10 วันไม่เพียงพอ ต้อง 14 วัน นพ.โสภณ กล่าวว่า ขึ้นกับว่าช่วงท้าย ๆ เรายอมรับแค่ไหน เรามีความรู้ตั้งแต่ปีแรกว่า เชื้อจะลดลงตามเวลา ซึ่งยิ่งยาวยิ่งดี อย่างจีนใช้ 21 วัน แต่ถ้าเราเอา 21 วัน ก็เกินความจำเป็น เพราะความเสี่ยงท้าย ๆ ค่อนข้างน้อย ถ้า 14 วัน ความเสี่ยงมากขึ้น พอเป็น 10 วันก็เสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

ตามความเห็นคิดว่าช่วง 10 วัน เรายอมรับได้ในความเสี่ยง เพราะคนติดเชื้อก็จะระวังตัวเองในระดับหนึ่ง ไม่ว่า 10 หรือ 14 วัน ก็ระวังตัวเองอยู่ดี แต่ก็จะช่วยให้ดำเนินกิจกรรมได้ ซึ่งวันนี้จะไปเข้มเหมือนวันก่อนก็ค่อนข้างยาก ซึ่งจาก 10 ลดลงเหลือ 7 ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น แต่หากยังระวังตัวอยู่ก็ไม่ได้เสี่ยงมาก ความเสี่ยงก็จะเหลือแค่ตอนกินข้าว พูดคุยไม่สวมหน้ากาก

ทุกครั้งที่เราขยับวันคือเราตัดสินใจแล้วในการบาลานซ์ระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะกลับมาใช้ชีวิต วัยทำงานก็คือกลับมาทำงาน กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ เราจึงลด 21 เหลือ 14 เหลือ 10 วัน ประเทศที่รับความเสี่ยงมากกว่าเราก็อาจจะลดความเสี่ยงลงมาเหลือ 7 วัน 5 วัน

เมื่อถามว่าอนาคตจะเหมือนหวัดทั่วไปที่ใช้ 2-3 วัน นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันก็ค่อนข้างใกล้เคียง สำหรับคนฉีดวัคซีนวันนี้เชื่อว่าเหมือนแล้ว อย่างไข้หวัดใหญ่เราไม่ได้ฉีดวัคซีนทุกคน เราไม่ได้เข้มถึงระดับโควิด ถ้าโควิดคนไหนฉีดวัคซีนแล้วก็รู้สึกว่าทำเหมือนไข้หวัดใหญ่ได้เลย ทุกวันนี้ที่ยังกังวลคือคนไม่ฉีดวัคซีน เหลือประมาณ 2 ล้านคนในกลุ่ม 608

จึงทำให้อยู่ในภาวะที่จะเลิกก็ยังไม่ได้ อย่างสหรัฐอเมริกาประกาศแล้วว่าจะไม่บริหารความเสี่ยงของกลุ่มเสี่ยงแล้ว บริหารเฉพาะคนติดเชื้อและป่วย คนติดเชื้อไม่มีอาการก็บริหารเหมือนคนปกติ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีทางรู้ถ้าไม่ตรวจ จึงบริหารคนป่วยที่มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ คือดูแลมีมาตรการที่ชัดเจน แต่กลุ่มอื่นไม่บริหารแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน