ศบค.เล็ง ปรับโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง ‘เลขาสมช.’ ลั่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังจำเป็น ปัด เปิดผับถึงตี 4 ไม่ใช่อำนาจศบค. รับห่วงแพร่ระบาด คาดยังไม่ชงเข้าศบค. 19 สค.นี้

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 18 ส.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในวันที่ 19 ส.ค. ว่า วาระการประชุมจะมีเรื่องสำคัญที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และรมว.สาธารณสุข หารือไว้

พล.อ.สุพจน์ กล่าวต่อว่า รวมถึงจะพิจารณากำหนดกรอบแนวทางเรื่องการปรับโควิด ไปเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยมีแผนงานที่ชัดเจนและเป็นอำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อกำหนดไว้ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะนำเรื่องนี้มาแจ้งให้ที่ประชุมศบค.รับทราบ เพื่อมีข้อสังเกตและข้อแนะนำเพิ่มเติมก่อนดำเนินการต่อไป

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า นอกจากนั้น หน่วยงานรับผิดชอบจะรายงานภาพรวมสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของโลก ภูมิภาค และประเทศไทย สถานการณ์ท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขต่างๆ ที่โตขึ้น ข้อกำจัดที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงเพิ่มเติมและแก้ไข รวมถึงการรายงานหลังเปิดด่านชายแดนมากว่าหนึ่งเดือน มีติดขัดตรงไหน และมีอะไรต้องปรับปรุง หรือจะเสริมตรงไหนให้การเดินทางเข้าประเทศเป็นไปโดยสะดวก ทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้า

นอกจากนี้ จะรายงานแผนการกระจายยาที่จะยกระดับให้ดีขึ้น โดยขณะนี้กระจายไปถึงโรงพยาบาลเอกชน คลินิกเวชกรรม ต่อไปอาจพิจารณาไปถึงร้านยาชั้น 1 สามารถกระจายยาโควิดให้กับประชาชนได้ ภายใต้การกำกับของแพทย์ จะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และจะรับทราบแผนการปรับไปสู่โรคติดต่อไม่ร้ายแรง เพื่อให้ศบค.ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ส่วนการพิจารณาเป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะพิจารณาให้เป็นโรคประจำถิ่นได้เลยหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า วันที่ 19 ส.ค. นี้จะดูว่า อาจจะกำหนดเวลาและยังมีเวลาที่จะประเมินสถานการณ์ เมื่อถ้าใกล้เวลาแล้วเกิดมีสถานการณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้พิจารณา จะปรับอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น แต่ในแผนจะต้องเตรียมพร้อมและพูดกันก่อน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดใหญ่ ที่ต้องบูรณาการร่วมกับจังหวัดข้างเคียง

เมื่อถามว่า หากประกาศเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ จะสามารถยุบศบค.ได้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่เกี่ยวกับการประกาศความเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะประกาศเป็นระดับไหน แต่ต้องดูสถานการณ์ด้วยว่า มีความจำเป็นที่ยังต้องใช้กฎหมายพิเศษควบคุมและป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายหรือไม่

เมื่อถามว่า สถานการณ์โควิดที่เบาลงในบางระดับ จำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า “ตอนนี้ยังใช้อยู่ เราจำเป็นต้องควบคุมคนเข้าออกประเทศ ยังจำเป็นในการกำกับหรือห้ามกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จะดูแผนของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ว่า แผนที่ออกมานี้ยังจำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่หรือไม่

พล.อ.สุพจน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น แม้ตัวเลขผู้ป่วยจะคงที่และมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ตัวเลขติดเชื้อตามความเป็นจริงที่ไม่ได้รายงานจะสูงขึ้น แต่มาตรการในการรองรับของเราทั้งในสถานพยาบาลหรือเจอแจกจบ หรือกระจายยา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปทางที่ดี

เมื่อถามถึงข้อเสนอถึงการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ถึงตี 4 มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า การผ่อนคลายของศบค.ที่ผ่านมา ถือว่าสุดทางของหน้าที่ของศบค. ถ้าจะปรับเวลาอาจจะเป็นในกรณีปกติ คือมีการแก้กฎหมายหรือกฎกระทรวง หรือจะเป็นกรณีพิเศษอะไรก็ตาม ต้องให้ผู้มีอำนาจหรือมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ไม่เกี่ยวกับศบค.แล้ว ยอมรับว่าศบค.อาจมีข้อกังวล ถ้าจะขยายเวลาปิดไปถึงตี 4 จะมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโควิดเท่านั้น

เมื่อถามว่า เรื่องเปิดผับถึงตี 4 จะบรรจุในวาระการประชุมศบค.หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า เสนอได้ แต่ศบค.จะพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับความหวังดีของรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ที่ต้องการให้เศรษฐกิจในพื้นที่ได้ฟื้นตัว แต่คิดว่าวันที่ 19 ส.ค.กระทรวงท่องเที่ยวฯ คงไม่เสนอการเปิดผับถึงตี 4 เพราะการประชุม ศปก.ศบค. ในวันนี้ ทางกระทรวงท่องเที่ยวฯไม่ได้เสนอเข้าวาระการประชุมด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน