“อนุทิน” เปิดทดลองวัคซีนโควิด HXP-GPOVac อภ. ในคนเฟส 3 ตื้นตันจุกอก “อาสาสมัคร 4 พันคน” เข้าร่วม ย้ำเป็นตัวเปลี่ยนเกม ตีไข่แตกสำเร็จ ทำไทยมีความมั่นคงวัคซีน ช่วยประหยัดงบประมาณ

23 ธ.ค. 65 – ที่ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.)

นพ.ทวีศิลป์ วิศณุโยธิน รองปลัด สธ. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. และ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

แถลงข่าววิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน HXP-GPOVac ขนาด 10 ไมโครกรัมในรูปแบบเข็มกระตุ้นเปรียบเทียบกับวัคซีนโควิด 19 ชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ พร้อมเยี่ยมชมการเริ่มฉีดวัคซีนในอาสาสมัคร ซึ่งเริ่มวันนี้เป็นวันแรก – 11 ม.ค. 2565

นายอนุทิน กล่าวว่า วัคซีนโควิด HXP-GPOVac หนึ่งในโครงการวิจัยที่คืบหน้าที่สุดของไทย มาถึงจุดวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 3 ถือเป็นพัฒนาการอีกหนึ่งขั้นในการสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศไทย ต้องขอคารวะอาสาสมัคร 4 พันคน มีทั้งประชาชน และ อสม. ถือว่าเป็นวีรบุรุษวีรสตรี ที่เป็นผู้ที่จะทำให้การพัฒนาวิจัยวัคซีนเกิดผลสำเร็จ มีคุณูปการต่อประชาชนไทยและประเทศ แต่ไม่ต้องกังวล วัคซีนผ่านการทดสอบระยะที่ 1 และ 2 ว่าปลอดภัย ถึงนำมาทดสอบจำนวนมากในระยะที่ 3 เป็นรูปแบบเชื้อตายที่คนไทยคุ้นเคยดีว่าปลอดภัย อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่

นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้ไม่มีวัคซีนตัวไหนป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ แต่ทุกตัวทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรงและไม่เสียชีวิต หากได้รับวัคซีนตามที่ สธ.กำหนดแนะนำ ทั้งนี้ ถ้าการทดสอบได้ผลน่าพอใจ ก็พร้อมจะผลิตวัคซีนตัวนี้เป็นเข็มกระตุ้นจากโรงงานผลิตยาของ อภ.ที่มีคุณภาพระดับโลก เงินทองก็จะไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงของระบบสาธารณสุขไทย

“ทราบว่าอาสาสมัครเป็น อสม. เชื่อว่าคนไทยทุกคนที่รับฟังข้อมูลนี้ก็จะรู้สึกจุกอกด้วยความปลื้มใจและศรัทธาที่มีให้กับ อสม. ที่ทุ่มเทด้านสาธารณสุข ในนามรัฐบาล สธ. และบุคลากรทางการแพทย์ ขอบคุณทุกคนทุกหน่วยงาน ทั้งในและต่างประเทศที่ช่วยกันให้ไทยจะมีวัคซีนป้องกันโควิดจากฝีมือคนไทย ตอกย้ำขีดความสามารถของไทยในการดูแลประชาชนให้มีความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน” นายอนุทินกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ช่วงโควิดระบาดเราเห็นจุดอ่อนความมั่นคงทางยาและวัคซีน รัฐบาลให้การสนับสนุนองค์กรต่างๆ พัฒนาวิจัยวัคซีนมีหลายรูปแบบ อภ.ใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟักและแบบเชื้อตาย มีความก้าวหน้าสูงสุดทำได้ในเฟส 3 โดยจะเปรียบเทียบกับไวรัลเวกเตอร์คือแอสตร้าเซนเนกา หวังว่าจะใกล้เคียงกันเรื่องคุณภาพ จะเป็นวัคซีนของคนไทย โดยจะทดลองวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วยจะได้ใช้ในทุกกลุ่มอายุ หากมีความสำเร็จจะทำให้คนไทยมีความมั่นคง กลับไปสู่ภาวะปกติสุข มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และการพึ่งพาตนเอง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีคนถามว่า ทำไมต้องมาทดลองวัคซีนกับอาสาสมัครในพื้นที่ จ.นครพนม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากกทม.และ อภ. ในฐานะที่ปรึกษาโครงการและเคยมาทำงานในพื้นที่นี้ในการทำวิจัยเรื่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จึงนับว่าพื้นที่นี้มีความเข้าใจและเคยสร้างฐานการร่วมมือมาก่อน

ขอให้ความมั่นใจอาสาสมัครว่า เราทดลองในขั้นก่อนหน้านี้ยาวนานมาก ตั้งแต่การได้ผล ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีอันตราย ทดลองในหนู กระต่าย ลิง และอาสาสมัครจำนวนน้อยในระยะที่ 1 และ 2 คือพื้นที่นี้ ผลคือไม่มีใครมีปัญหาจากการทดลอง ความปลอดภัย 100% ก็ว่าได้จึงมั่นใจที่จะทำ

ทั้งนี้ กรมฯ เข้ามาช่วยในการตรวจในขั้นตอนต่างๆ ทั้งคุณภาพ ระดับภูมิคุ้มกัน และการติดเชื้อ ซึ่งเรามีมาตรฐานระดับโลกก็จะเป็นที่เชื่อถือ ถ้าสำเร็จจะมีวัคซีน Made in Thailand เจ้าแรก ไม่ต้องหาซื้อจากใครถือเป็นความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศ

นพ.นครกล่าวว่า วัคซีนที่วิจัยมีความร่วมมือและมาตรฐานระดับโลก ทุกวันนี้ที่มีวัคซีนอื่นๆ กันได้ ต้องผ่านการทดสอบวัคซีนในระยะที่ 3 ทั้งสิ้น เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนการขึ้นทะเบียน สถาบันวัคซีนฯ มีหน้าที่สนับสนุนพัฒนาวิจัยภายในประเทศ เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้เมื่อเกิดวิกฤต จะได้ไม่ต้องไล่ตามวิ่งหาซื้อวัคซีน

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณซื้อวัคซีนจำนวนมาก แต่หาได้น้อยในช่วงต้นๆ เพราะเกิดการแย่งชิงกัน ถ้าเราทำได้เองก็ไม่ต้องแย่งกับใคร พึ่งพาตนเองได้เป็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งเราก้าวหน้ากว่าบราซิลและเวียดนามที่ยังอยู่เฟส 1 และ 2

ด้าน นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา แสดงให้สังคมรับทราบว่า เราเป็นรัฐวิสาหกิจของ สธ. เป็นองค์กรหลักของไทยในการจัดหา ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ หน้ากากอนามัย วัคซีน ชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอต่อเนื่อง และรักษาระดับราคายาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนได้สินค้าที่มีคุณภาพและเป็นธรรม

วันนี้ก็มาอีกขั้นหนึ่ง โดยผลิตวัคซีนโควิด 19 เป็นรายแรกของประเทศไทย ด้วยการใช้เชื้อไวรัสนิวคาสเซิลที่ก่อให้เกิดโรคในไก่ ไม่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ มาเป็นเวกเตอร์และใช้เทคโนโลยี Hexapo เพื่อเอาไวรัสโควิด 19 ไปฝังตัว เป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยตั้งแต่แรก เพราะใช้พื้นฐานเป็นเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล และนำมาทำให้เป็นเชื้อตายอีกครั้งหนึ่ง ความปลอดภัยถึง 2 ชั้น

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มนี้ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไม่ต้องเริ่มจาก 1 อาจจะนับจาก 7 8 9 ได้ ถ้าการทดลองเป็นไปตามกำหนดการ จะยื่นขอทะเบียนได้กลางปี 2566 ภายในปีหน้าจะได้ใล้ ส่วนกำลังการผลิตช่วงแรกน่าจะผลิตประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อปี ถ้าใช้กระตุ้นน่าจะเพียงพอในประเทศ แต่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต

ถามว่า ถ้าสำเร็จผลิตใช้ได้เองจะช่วยประหยัดงบประมาณมากน้อยแค่ไหน นายอนุทินกล่าวว่า เราสั่งวัคซีนโควิดทุกชนิด ใช้งบเกือบ 8 หมื่นกว่าล้านบาท ถ้าเราผลิตเองได้ก็จะต้องประหยัดอย่างแน่นอน แต่เรื่องของสุขภาพประชาชนเราคงไม่ได้ดูจากเรื่องของตัวเลขงบประมาณ

สิ่งสำคัญคือชีวิต สุขภาพที่ดี ความปลอดภัยของประชาชน คือเหตุผลที่เราต้องมีการพัฒนา ไม่พึ่งพาคนอื่น พึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ถ้าการทดสอบสำเร็จแน่นอนว่าการผลิตในประเทศไทย ไม่มีต้นทุนการขนส่ง การตลาดอื่นๆ ก็จะต้องลดลงมา จะเกิดความร่วมมือจากต่างประเทศเข้ามามากมายในการมาใช้รากฐานของวัคซีนตัวนี้ในการขยายผล อย่างการประชุมที่เกาหลีใต้ เราได้รับการติดต่อติดต่อจากผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของเกาหลีรายหนึ่ง ที่จะมาร่วมกับ อภ.ในการพัฒนาวัคซีนต่อยอดขึ้นไป

“เราต้องตีไข่แตก ถ้าตีให้แตกก็ต้องมีอย่างอื่นตามมา ซึ่งตัวเปลี่ยนเกมเรื่องของวัคซีน ความมั่นคงวัคซีนโควิด 19 ก็คือ อาสาสมัคร 4 พันคนจากนครพนม ที่สำคัญเมื่อวัคซีนสำเร็จ ยังส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาล เหมือนผู้ผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ” นายอนุทินกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน